“วิษณุ”สั่งกกต.ลุยแก้ก.ม.เลือกตั้งส.ส. อุบัติเหตุทางการเมืองเกิดได้เสมอ

14 ต.ค. 2564 | 17:48 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2564 | 00:59 น.
655

“วิษณุ”มอบกกต.เดินหน้ายกร่างพรป.เลือกตั้ง ส.ส. เตรียมเข้าสภาสมัยประชุมที่จะถึงนี้ ชี้อุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นได้เสมอ

วันนี้(14 ต.ค.64) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เข้าหารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

 

ภายหลังการหารือ นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ กกต. ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ทาง กกต.จะเป็นผู้จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่มีการทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไปแล้วอย่างน้อย 1 ฉบับ คือ กฎหมายเลือกตั้ง

 

ส่วนกฎหมายพรรคการเมืองนั้น ดูแล้วยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่ได้พาดพิงไปถึง แต่ความคิดที่จะแก้ไขนั้น มีอยู่เป็นเอกเทศก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น จะมีการขอความเห็นจาก กกต.ใหญ่ทั้ง 7 คน อีกครั้งหนึ่งก่อนว่า จะเอาอย่างไร

 

“หาก กกต.ทั้ง 7 คนเห็นว่าควรต้องแก้ ทั้ง 2 ฉบับไปในคราวเดียวกัน ทั้ง ส.ส.และพรรคการเมือง ก็จะเสนอมา แต่ถ้าจะเอาแต่เฉพาะที่เร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนก็จะมีฉบับเดียว ดังนั้น รอให้เสนอ กกต.ใหญ่ก่อน”

 

รองนายกฯ กล่าวว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทางสำนักงาน กกต.ได้ยกร่างขึ้นมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีประมาณ 30 มาตรา ซึ่งเป็นเรื่องของการกาบัตร 2 ใบ ร่วมถึงวิธีการนับคะแนน ซึ่งจะนับอย่างไรนั้น ไม่รู้ เพราะยังไม่ได้เห็นร่าง เนื่องจากเขาต้องเสนอ กกต.ใหญ่ ก่อน

 

จากนั้นจึงจะเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ และเมื่อ กกต.ใหญ่เห็นชอบแล้ว ก็จะรับฟังความเห็นในส่วนกลาง คือ ฟังจากพรรคการเมืองและประชาชน จากนั้นจะส่งร่างไปให้ กกต.จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อรับฟังความเห็นในจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะรวบรวมความเห็นกลับเข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อปรับปรุงจากนั้นจึงจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 และเมื่อ ครม.เห็นชอบก็จะส่งไปให้คณะกรรมกฤษฎีกา ได้ตรวจสอบอีกครั้ง จากนั้นก็จะเตรียมส่งร่างดังกล่าวให้รัฐสภา

 

นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ต้องใช้คำว่าเตรียมก็เพราะว่ายังไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยลงมา เนื่องจากตราบใดที่ยังไม่มีการลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษา ก็จะยังไม่ส่งไปยังสภา แต่เมื่อมีพระปรมาภิไธยลงมา และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว จึงจะส่งให้รัฐสภาต่อไป ส่วนจะเมื่อใดไม่ทราบเพราะมันผูกติดกับพระปรมาภิไธย แต่ในชั้นนี้ก็ยกร่าง รับฟังความเห็น ตรวจและเตรียมนำเสนอต่อไป

 

นายวิษณุ กล่าวว่า การแก้กฎหมายพรรคการเมืองก็มีประโยชน์อยู่ จะบอกว่าไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเลยก็ไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวกับว่าการทำไพรมารีโหวต หรือการทำอะไรต่างๆ ซึ่งถ้าเกิดการเลือกตั้งขึ้นเร็ว แบบกระทันหัน ปุบปับขึ้นมา มันก็จะเตรียมการไม่ทัน แต่ตรงนี้ไม่เป็นไร รอให้ กกต.ชุดใหญ่ได้พิจารณากันอีกครั้งหนึ่งก่อน

 

เมื่อถามว่าจะคุยกับทาง กกต.อีกครั้งเมื่อไหร่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่คุยแล้ว จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจึงจะได้มาดูฤกษ์ ดูยามว่าจะส่งร่างไปที่รัฐสภาเมื่อไหร่ ระหว่างนี้ทุกคนก็ทำงานของตัวเองไป ทั้งยกร่าง ซึ่งร่างเสร็จแล้ว 30 มาตรา และเตรียมที่จะเสนอ กกต.ใหญ่ ซึ่งคิดว่าคงอีกไม่กี่วัน และเมื่อ กกต.ใหญ่เห็นอย่างไรก็ปฏิบัติไปตามนั้น ซึ่งก็คือการรับฟังความเห็นส่วนกลาง จากนั้นก็ส่งให้ กกต.จังหวัดไปรับฟังความเห็นของจังหวัดตัวเอง แต่สมัยนี้รับฟังความเห็นออนไลน์กันได้ มันก็เร็วและรวบรวม ก่อนที่จะเสนอ ครม. ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่ลงพระปรมาภิไธย ก็ทำตรงส่วนนี้ไปพลางก่อนได้ แล้วก็ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้

 

เมื่อถามว่าได้เห็นทั้ง 30 มาตราแล้วหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่เห็นเลย เพราะเขาต้องเสนอ กกต.ใหญ่ก่อน จึงไม่อยากเอามาแสดงก่อน แต่พอผ่าน กกต.ใหญ่แล้วมันก็ต้องเปิดเผยให้คนรับรู้เพื่อติชม ไม่เช่นนั้นจะเรียกว่ารับฟังตาม มาตรา 77 ได้อย่างไร

 

ส่วนที่พรรคการเมืองกำลังเสนอการแก้ไขกฎหมายลูกนั้น เขาก็มีสิทธิ์เสนอได้ เพราะผู้ที่จะเสนอแนะได้ จะเป็นทั้ง ครม.หรือ ส.ส. 1 ใน 10 หรือประมาณ 50 คน สามารถทำได้ แต่ ส.ส.คงยังไม่เสนอร่างของตัวเองต่อสภาจนกว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

 

“เมื่อถึงเวลาประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขเสร็จ ก็คงจะเสนอเข้าสภาไป ถ้ามีหลายฉบับก็จะไปรวมพิจารณากันโดยเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาและต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน เมื่อรัฐสภาพิจารณาเสร็จแล้วก็จะส่งกลับไปให้กกต.อีกภายใน 15 วัน เพื่อดูว่าการที่คณะกรรมาธิการนำไปแก้นั้นผิดไปจากเจตนารมณ์ของกกต.หรือไม่ โดยกกต.จะต้องตอบกลับมาภายใน 10 วัน จากนั้นสภาก็จะทำการแก้ไขให้เสร็จภายใน 30 วัน และจึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ” นายวิษณุ ระบุ

 

มีรายงานถึงผลการหารือว่า ที่ประชุมยังไม่คุยเรื่องรายละเอียดเนื้อหา ของร่างกฎหมาย แค่คุยเรื่องขั้นตอนว่าทำอย่างไรให้การพิจารณาแก้ไขพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ทำได้เร็ว ระหว่าง 90 วัน ที่รอโปรดเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญลงมา

 

“กกต.เดินหน้ายกร่างไป ถ้ากกต.เห็นชอบร่างแก้ไข สามารถเปิดรับฟังความเห็นเลยได้ไหม ตรงนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 77 เขียนไว้ให้ทำได้ เมื่อกกต.พิจารณาเสร็จแล้วก็ให้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นระยะเพื่อที่พอเสนอครม. ขั้นตอนจะได้เร็ว อยากให้ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.พิจารณาได้เสร็จในสมัยประชุมสภาที่จะเปิดนี้ เพราะอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นได้เสมอ ส่วนพ.ร.ป.พรรคการเมือง ก็แล้วแต่ กกต.” แหล่งข่าวระบุ