“พท.-ชทพ.”ลุยแก้ก.ม.เลือกตั้งส.ส.ให้แต่ละพรรคเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ

13 ก.ย. 2564 | 18:33 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2564 | 01:39 น.
510

“พท.-ชาติไทยพัฒนา”ลุยแก้กฎหมายกำหนดให้การเลือกตั้งส.ส.ใช้เบอร์ผู้สมัคร และเบอร์พรรค เป็นเบอร์เดียวกันทุกเขตทั้งประเทศ

ภายหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ผ่านที่ประชุมรัฐสภา ในวาระ 3 เมื่อวันที่ 10 ก.ย.64 ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไป ประธานรัฐสภา จะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะต้องเว้นระยะเวลาไว้ 15 วัน  ระหว่างนี้ หาก ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เสนอประธานรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ นายกรัฐมนตรี จะยังไม่สามารถนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมานั้น

 

ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเตรียมแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง โดยมี 3 พรรคที่ต้องการให้การเลือกตั้งส.ส.แต่ละพรรค แต่ละเขต ใช้ “เบอร์เดียวกัน” ทั้งประเทศ

 

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า  ในการประชุมสภาฯ สมัยหน้า เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยแก้ไขในสาระสำคัญ ได้แก่ กำหนดให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง เป็นหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้เลือกตั้งสับสนและลดบัตรเสีย

 

เบื้องต้นคาดว่า รัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ จะเสนอร่างแก้ไขพ.ร.ป.เลือกตั้งให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญด้วย และจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน

ขณะที่ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า การยื่นร่างแก้ไขพ.ร.ป.ฯ ดังกล่าว ต้องทำหลังจากที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาเห็นชอบมีผลประกาศบังคับใช้ จากนั้นพรรคจะหารือร่วมกับ พรรคภูมิใจไทย(ภท.)  ต่อการเสนอเนื้อหาแก้ไข

 

ทั้งนี้ มีประเด็นที่คิดว่าจะปรับปรุงจากพ.ร.ป.ฉบับที่ใช้อยู่ คือ การกำหนดหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. และหมายเลขของพรรคการเมือง ให้เป็นหมายเลขเดียวกันทุกเขตและทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่สับสน และง่ายต่อพรรคการเมืองจะหาเสียง

 

รวมถึงการเสนอเนื้อหาว่าด้วยการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่สามารถเขียนเนื้อหาให้มีความเป็นกลางและทุกพรรคได้รับความเป็นธรรม เช่น นำหลักการของระบบคำนวณแบบ MMP ออกแบบผสมผสานกับระบบของรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นต้น

“การออกแบบให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ถือว่าพรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบ ดังนั้นการออกแบบกฎหมายลูก ผมเห็นว่าพรรคขนาดกลาง รวมถึงพรรคขนาดเล็ก ควรมีโอกาสสร้างกติกาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรคเท่าเทียมกัน รวมถึงพรรคฝ่ายค้านด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบมากเกินไป” นายนิกร กล่าว

 

นายนิกร ยังกล่าวถึงการกำหนดให้มีเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนพฤศจิกายน นี้ว่า ปกติพรรคไม่ส่งคนลงในนามพรรค และครั้งนี้จะปฏิบัติเช่นเดิม เพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ที่อาจมีความขัดแย้งในฐานของตนเอง แต่หากส.ส.ของพรรคจะดำเนินการอย่างใด หรือสนับสนุนผู้สมัครท้องถิ่นรายได้พรรคไม่ห้าม แต่ต้องระวังอย่าทำผิดรัฐธรรมนูญ