กกต.ชงแก้ 35 มาตราพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. คลายล็อก“ไพรมารีโหวต”

13 ต.ค. 2564 | 16:49 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2564 | 23:58 น.
737

กกต.ชงแก้ 35 มาตรา พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ทั้งเลือกตั้งบัตร 2 ใบ วิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ แบ่งเขตใหม่ ลดเวลาลงคะแนน คลายล็อกไพรมารีโหวต

วันนี้ (13 ต.ค.64) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงกรณีที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเข้าพบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้(14 ต.ค.64) ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา13.30. น. ตามที่มีการเชิญนั้น

 

มีรายงานว่า ทาง กกต.จะได้นำเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ทางสำนักงาน กกต. ได้ศึกษาและยกร่างขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

 

เบื้องต้นร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่จะเสนอมี 35 มาตรา เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จำนวนส.ส.เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

 

การคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งทั้งประเทศมารวมกันหารด้วย 100 เพื่อให้ได้คะแนนต่อส.ส. 1 คน และหากจัดสรรแล้วยังได้ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ครบ 100 คน ก็จะจัดสรรให้พรรคที่เหลือคะแนนเศษมากตามลำดับ

 

ส่วนการแบ่งเขตใหม่ 400 เขตให้เสร็จใน 90 วัน ส.ส.เขตใช้เบอร์เดียวกับเบอร์พรรค, การลดเวลาลงคะแนนเหลือ 16.00 น. เช่นเดิม, เพิ่มกรรมการประจำหน่วยจาก 5 คน เป็น 9 คน  และ กำหนดจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต่อหน่วย 800 คน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ อาจมีการหารือถึงข้อติดขัดของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง ที่ กกต.ได้รับฟังจากพรรคการเมือง คือ กรณีการทำ “ไพรมารีโหวต” เพื่อคัดเลือกและส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง

 

เพราะนับแต่บังคับใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 จนปัจจุบันการจัดตั้งสาขาพรรค  การหาสมาชิกพรรคซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการทำไพรมารีโหวต แต่ละพรรคยังเป็นปัญหา สมควรต้องมีการแก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ในเรื่องดังกล่าวด้วยหรือไม่

 

โดยก่อนหน้านี้ นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาฯ กกต.)  ได้เสนอแนวทางแก้ไขให้ทางสำนักงาน กกต. ไปพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครได้ ต้องมีสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้นว่า หากแก้ไขเป็นพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครได้ต้องมีสาขาพรรคการเมืองจังหวัดละ 1 แห่ง ประชุมร่วมกับสมาชิก 500 คน สามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครในทุกเขตเลือกตั้งของจังหวัด ตามบัญชีที่คณะกรรมการสรรหาส่งมาได้ น่าจะทำให้กระบวนการคัดสรรผู้สมัครของพรรคคล่องตัวขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม หลังกกต.หารือกับทางรัฐบาลแล้ว ก็จะนำประเด็นหารือกลับมาเสนอต่อที่ประชุม กกต. ก่อนทำการยกร่างแก้ไขกฎหมาย และนำไปรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา77 ก่อนเสนอครม.และรัฐสภาพิจารณาต่อไป