ป.ป.ช.สอบต่อคดีนาฬิกาหรู“บิ๊กป้อม”

24 มิ.ย. 2563 | 20:10 น.
673

ป.ป.ช.สอบต่อคดีนาฬิกาหรู “บิ๊กป้อม” ส่งเรื่องให้อนุกรรมการ ตีความปมการ “ยืม-เช่า” ทรัพย์สิน เข้าข่ายรับผลประโยชน์อื่นใดตาม ม.128 หรือไม่

จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติยกคำร้องกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ และกรณีร่ำรวยผิดปกติ โดยถูกกล่าวหาว่าครอบครองนาฬิกาหรูประมาณ 21 เรือน ไม่แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เนื่องจากเห็นว่า นาฬิกาดังกล่าวเป็นการยืนมาจากนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ นักธุรกิจ เพื่อนสนิทที่เสียชีวิตไปแล้ว จึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งนาฬิกาดังกล่าวเป็นหนี้สินในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะไม่ใช่หนี้สินตามที่ ป.ป.ช.กำหนด โดยการยืมดังกล่าวเป็นการยืมใช้คงรูปนั้น

 

สำนักข่าวอิศรา ได้รายงานโดยอ้างการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า แม้ว่า ป.ป.ช.จะตีตกคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ดังกล่าว ในประเด็นการกล่าวหาว่าแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ รวมถึงกรณีกล่าวหาว่ารวยผิดปกติไปแล้ว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังคงดำเนินการตรวจสอบในประเด็นการยืมนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ว่า มีลักษณะการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม นำประเด็นนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ดังกล่าวมาพิจารณา

 

ประเด็นหลักคือดูว่าการยืมนาฬิกาหรูดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการรับผลประโยชน์อื่นใด ตามมาตรา 128 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 และตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 หรือไม่ เพราะในปัจจุบันมีการเปิดให้เช่าทรัพย์สินมูลค่าสูง เช่น เช่ารถยนต์หรู เช่ากระเป๋าแบรนด์เนม ดังนั้นการอ้างว่า ยืมทรัพย์สิน จะเป็นช่องทางการหลบเลี่ยงให้ผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าว มีทั้งหมด 27 ราย โดยมีนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการฯ และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นรองประธานอนุกรรมการฯ นายวิชัย วิวิตเสวี อดีตกรรมการ ป.ป.ช. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมถึงนักวิชาการ และนายทหารระดับสูงเป็นอนุกรรมการ

 

สำหรับ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 128 ระบุว่า ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐทุกตำแหน่ง (เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.) ทั้งในช่วงดำรงตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมายังไม่ถึง 2 ปี รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้

 

ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ หมายถึง สิ่งที่มีมูลค่า เช่น การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน

 

แต่มีข้อยกเว้นอนุญาตให้เจ้าพนักงานของรัฐสามารถรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดได้ เช่น การรับจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติ โดยจะต้องเป็นการให้ตามประเพณี หรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป หรือการที่เจ้าพนักงานของรัฐเดินทางไปปฏิบัติราชการต่างจังหวัด สามารถเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการได้

 

ขณะที่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาตินั้น ต้องเป็นการรับโดยธรรมจรรยา คือการรับจากบุคคลที่ให้กันในโอกาสเทศกาลหรือวันสำคัญ รวมถึงการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือการให้ตามมารยาทที่ถือปฏิบัติกันในสังคม โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

 

1.การรับจากผู้ซึ่งมิใช่ญาติมูลค่าทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ในแต่ละบุคคล แต่ละโอกาส ต้องไม่เกิน 3,000 บาท หรือการให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไป

 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งความเห็นและพยานหลักฐานต่าง ๆ แก่กรมศุลกากร เพื่อตรวจสอบที่มาของนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร เนื่องจากการไต่สวนไม่พบว่านาฬิกาดังกล่าวจัดซื้อจากผู้จัดจำหน่ายในประเทศ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า กรมศุลกากรได้ตอบกลับสำนักงาน ป.ป.ช. ปฏิเสธที่จะดำเนินการ โดยอ้างว่ากรณีดังกล่าวต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน