ด่วน​ ปปช.ฟัน​ "สม​เกียรติ​ ภู่ธงชัยฤทธิ์"

11 มี.ค. 2563 | 14:15 น.
7.4 k

ด่วน​ ปปช.ฟัน​ "สม​เกียรติ​ ภู่ธงชัยฤทธิ์" เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง​อธิบดี​กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่​กับพวกรวม ​6 ราย​ กรณีอนุญาตให้บริษัท​ อัคราไมนิ่ง​ จำกัด​ เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือโดยมิชอบ​ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท​ อัคราไมนิ่ง​ จำกัด​

นายวรวิทย์​ สุขบุญ​ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ​ (ป.ป.ช.)​ ในฐานะโฆษก สำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า จากกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหานายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง​ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กับพวก ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีร่วมกันพิจารณาและมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 อนุญาตให้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือโดยมิชอบและพิจารณาคำขอเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมโดยมิชอบ และละเว้นไม่ควบคุมกำกับดูแล ปล่อยให้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ใช้งานหรือเดินเครื่องเพื่อทดลองการผลิตในส่วนที่เป็นโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) โดยไม่ได้รับอนุญาต และละเว้น  ไม่ควบคุม กำกับดูแล ปล่อยให้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ทำการก่อสร้างขยายโรงงานติดตั้งเครื่องจักรจนแล้วเสร็จโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ในการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน

จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท​ อัครา ไมนิ่ง จำกัด มีประทานบัตรรวมทั้งสิ้น 14 แปลง บริเวณพื้นที่อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร จังหวัดเพชรบูรณ์ และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งแต่เดิมมีประทานบัตรจำนวน 5 แปลง 

เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2543 (โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี) 

ต่อมาได้ขออนุญาตประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและเงินเพิ่มอีกจำนวน 9 แปลง เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 (โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ)ซึ่งในการขออนุญาตประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและเงินเพิ่มอีกจำนวน 9 แปลง ดังกล่าวนั้น บริษัทฯ ผู้ยื่นคำขอประทานบัตรจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ส่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา

บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด จึงได้เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โครงการเหมืองแร่ทองคำให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตรวจสอบและเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านโครงการเหมืองแร่พิจารณา ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณารายงานดังกล่าว และมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่​12 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งในรายงาน EIA ทุกฉบับจะมีมาตรการการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม   และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด         ซึ่งในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั่วไป ข้อ 4 กำหนดว่า “หากผู้ถือประทานบัตรมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมือง หรือการดำเนินการที่แตกต่างจากที่เสนอไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวประกอบกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ”ซึ่งมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าวเป็นการกำหนดเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาต 

ดังนั้น ทางบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จำต้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวเสียก่อน นายสมเกียรติ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงจะสามารถพิจารณาสั่งอนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนผังโครงการได้  

 

 

ต่อมาเมื่อบริษัท อัครา ฯจะต้องก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) ในพื้นที่ตามที่กำหนดไว้ในแผนผังที่ผ่านความเห็นชอบตามรายงาน EIA ซึ่งกำหนดไว้ให้ก่อสร้างบริเวณทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 นั้น บริษัท อัคราฯ มีความประสงค์จะเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างบ่อที่ 2 ไปก่อสร้างบนพื้นที่ที่เคยได้รับอนุญาตให้จัดทำเป็นสถานที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายตามใบประทานบัตรที่ 1/2548 ของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี (เดิม) เนื่องจากเมื่อถึงเวลาที่จะต้องก่อสร้างบ่อที่ 2ในพื้นที่ตามที่กำหนดไว้ในแผนผัง ทางบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ไม่สามารถซื้อที่ดินจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในบริเวณดังกล่าวได้      ซึ่งในช่วงเวลาที่บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ทำการขอเปลี่ยนที่ก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 นั้นบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่1กำลังจะปิด เนื่องจากได้พัฒนามาจนถึงที่ได้เคยยื่นแบบอนุมัติไว้และใกล้จะเต็มความจุที่สามารถรองรับกากแร่จากการประกอบโลหกรรมได้ ประกอบกับบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ได้ขยายการทำเหมืองและประกอบโลหกรรม  ตามโครงการแหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หากกระบวนการก่อสร้างและเปิดใช้งานบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันเพื่อรองรับกากแร่ต่อจากบ่อกักเก็บกากแร่ แห่งที่ 1 จะทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการประกอบโลหกรรม อาจทำให้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด โดยนายปกรณ์ สุขุม กรรมการผู้จัดการจึงได้มีหนังสือยื่นต่ออุตสาหกรรมจังหวัดขอแก้ไขแผนผังโครงการ ซึ่งรวมถึงเรื่องการย้ายตําแหน่งที่ตั้งของบ่อที่ 2 (TSF2) โดยการยื่นขอแก้ไขดังกล่าว บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ไม่ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของรายงาน EIA ในข้อ 4  ที่ต้องเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินการ           

ด่วน​ ปปช.ฟัน​ \"สม​เกียรติ​ ภู่ธงชัยฤทธิ์\"

อุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตรได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่พิจารณาโดยแยกพิจารณาเป็น 2 กรณี คือการพิจารณาตรวจสอบในด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการตรวจสอบด้านวิศวกรรม รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าได้รับการตรวจสอบกลั่นกรองจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเรื่อยมาตามลำดับ เป็นการพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

 ส่วนการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการเป็นลำดับกล่าวคือเมื่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่โดยสำนักการอนุญาตซึ่งมีนายสัจจาวุธ นาคนิยม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นผู้อำนวยการสำนักการอนุญาต ได้รับเรื่องการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการแล้ว จะมีหนังสือส่งเรื่องให้สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีนายชาติ หงส์เทียมจันทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นผู้อำนวยการสำนัก พิจารณาตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ว่าแผนผัง มีความแตกต่างไป     เดิมในประเด็นใด พิจารณาว่าขัดแย้งมาตรการเดิมที่กำหนดไว้หรือ/และครอบคลุมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ จากนั้นเมื่อสำนักบริหารสิ่งแวดล้อมพิจารณาแล้วเสร็จ จะส่งเรื่องกลับไปให้สำนักการอนุญาต     โดยนายคันธศักดิ์ แข็งแรง วิศวกรเหมืองแร่ชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนควบคุมสัมปทาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4    จะดำเนินการรวบรวมความเห็นของสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม และนายกำภู คุณารักษ์ วิศวกรชำนาญการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 (ด้านวิศวกรรม) เพื่อประมวลเรื่องตามความเห็นดังกล่าวเสนอผ่านนายสัจจาวุธ นาคนิยม ผู้อำนวยการสำนักการอนุญาต ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พิจารณาเสนอนายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พิจารณาต่อไป

 จากพยานหลักฐานข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การพิจารณาอนุญาตของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ให้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมือง ซึ่งรวมถึงการย้ายตำแหน่งที่ตั้งบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดำเนินการ ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยการปฏิบัติหรือละเว้นไม่สั่งการตามอำนาจหน้าที่ให้บริษัทฯ เสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพร้อมกับมาตรการป้องกันที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนอนุญาตให้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงแผนผังในวันที่ 11 มีนาคม 2554 ตามที่มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดไว้

กระทำการโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงขนาดบ่อกักเก็บกากแร่ที่ใหญ่กว่าเดิม และเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานที่ก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) ทั้งที่บ่อกักเก็บกากแร่        มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นสถานที่ทิ้งกากแร่ในการประกอบโลหกรรมซึ่งมีสารไซยาไนด์และสารเคมีต่างๆ ในการประกอบโลหกรรม และมีขนาดพื้นที่กว่า 1,351 ไร่ โดยเปลี่ยนไปก่อสร้าง     ณ สถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย ซึ่งเป็นสถานที่ที่เกี่ยวกับขั้นตอนการ ทำเหมือง เช่น การเปิดเปลือกดินและขุดตักสินแร่ทองคําที่เป็นเพียงสถานที่เก็บเศษหิน ดิน ตะกอน ในการขุดเจาะเหมืองเท่านั้น เห็นได้ชัดว่าสถานที่ทั้งสองแห่งมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญของการใช้งานและผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ย่อมแตกต่างกัน ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม แหล่งน้ำ พื้นที่ทำกิน ที่ตั้งชุมชน และวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่     ที่ผู้พิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมใช้ในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้สถานที่ทั้งสองแห่งดังกล่าว เป็นการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด สามารถเริ่มกระบวนการก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) หลังจากได้รับอนุญาตในทันทีเพื่อให้แล้วเสร็จได้ทันรองรับกากแร่จากบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 1 ที่กำลังจะปิดตัวลงเนื่องจากได้พัฒนามาจนถึงที่ได้ยื่นแบบอนุมัติไปแล้วอันเป็นการลดความเสี่ยงในการประกอบโลหกรรมของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งหากกระบวนการก่อสร้างและเปิดใช้งานบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันเพื่อรองรับกากแร่ต่อจากบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 1 (TSF1)จะทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการประกอบโลหกรรมซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งอาจทำให้ทางบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ไม่สามารถดำเนินกระบวนการประกอบโลหกรรมต่อไปได้ และจงใจหลีกเลี่ยงขั้นตอนการตรวจสอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบและมีความเชี่ยวชาญในการพิจารณา ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน มิให้มีโอกาสได้เสนอความเห็นและเพิ่มมาตรการต่างๆ ตามข้อเท็จจริงที่จะได้จากการตรวจสอบ

 

การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาอาจสร้างความเสียหายให้เกิดแก่สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างร้ายแรงได้ เพราะเมื่อขนาดและสถานที่ก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปหรือแตกต่างไปจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับเดิมที่เคยได้รับความเห็นชอบไว้ และเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบราชการ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของนายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายสัจจาวุธ นาคนิยม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และนายคันธศักดิ์ แข็งแรง          ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (1)

การกระทำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหา  ที่ 6 และนายปกรณ์ สุขุม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย  แก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

ส่วนนายกำภู คุณารักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป