ถอดรหัส "มติครม. 2542" เงื่อนไข 10 ข้อ ขรก.เข้าเวรวันหยุด ยังจำเป็นไหม?

24 ม.ค. 2567 | 00:06 น.
2.5 k

ย้อนรอย "มติคณะรัฐมนตรี 6 กรกฎาคม 2542" กับ 10 เงื่อนไขการเข้าเวรรักษาการณ์ของข้าราชการในวันหยุด-นอกเวลาราชการ ยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคนี้ ย้อนอ่านรายละเอียดได้ที่นี่

ข้าราชการเข้าเวรรักษาการณ์ในวันหยุด หรือ เข้าเวรนอกเวลาราชการ ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ และยังคงต้องปฏิบัติเหมือนกันแบบนี้ในทุกหน่วยงานหรือไม่ในยุคสมัยนี้

คงเป็นคำถามที่หาคำตอบไม่ได้มานานแสนนาน สำหรับข้าราชการหลายคน ที่ต้องจำยอมเข้าเวรในวันหยุดราชการ หรือเข้าเวรนอกเวลาราชการ อยู่เป็นประจำตามที่ผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้าหน่วยงาน จัดตารางเวรเอาไว้ให้ 

ปัญหาข้าราชการเข้าเวรวันหยุดนี้ เปรียบเหมือนฝีแตกให้สังคมเห็นใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 20 ม.ค. 67 กับเหตุอุกอาจในโรงเรียนบ้านโป่งเกลือ ต.ดอยลาน อ.เมือง จ.เชียงราย

คนร้ายที่เป็นชายวัย 38 ปี ลงมือทำร้าย ครูผู้หญิง อายุ 41 ปี ที่ทำหน้าที่เป็นครูเวรของโรงเรียนในวันหยุดเพียงลำเพียง ทำให้ครูได้รับบาดเจ็บสาหัส 

จากนั้นคนร้ายได้เข้ามอบตัว ทำให้ทราบว่าเป็นคนที่โรงเรียนได้จ้างเขามาตัดต้นไม้ในโรงเรียนก่อนเกิดเหตุ

ต่อมา  23 ม.ค. 67 นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เปิดเผยว่า มติครม.ล่าสุด ได้ยกเลิก "มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542" ซึ่งเป็นต้นทางของคำสั่งให้ข้าราชการอย่างคุณครูผู้โชคร้ายต้องเข้าเวรในวันหยุด

ถอดรหัส \"มติครม. 2542\" เงื่อนไข 10 ข้อ ขรก.เข้าเวรวันหยุด ยังจำเป็นไหม?

 

"การอยู่เวรรักษาการณ์ดังกล่าวแม้จะเป็นการปฏิบัติตามมติครม.เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 มติครม.นั้นไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่มีบุคคลหรือเครื่องมือในการช่วยเหลือดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการมากมาย เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย นักการภารโรง กล้องวงจรปิด อีกทั้งการให้ครูต้องมาอยู่เวรรักษาการณ์ก็เป็นการกำหนดหน้าที่และความเสื่อมเพิ่มเติมให้กับครู นอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพโดยไม่จำเป็นอีกด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าว

 

ฐานเศรษฐกิจ จะพาย้อนไปดูหลักฐานเอกสารต้นทาง มติครม. 6 กรกฎาคม 2542 มีเนื้อหาใจความว่าอย่างไร 

ข้อมูลระบุว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2542 สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทําเนียบรัฐบาล  ได้ทำหนังสือเวียนถึง กระทรวง ทบวง กรม เรื่อง การปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดเวรรักษาการณ์ประจําสถานที่ราชการ 

สาระสำคัญ คือ มติครม.วันที่ 6 กรกฎาคม 2542 เห็นชอบหลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์ ฉบับใหม่ โดยให้ยกเลิกมติครม.เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2536 เรื่อง การจัดเวรรักษาการณ์ ประจําสถานที่ราชการ ตามหนังสือสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0205/ว 58 ลงวันที่ 19 เมษายน 2536

 

หลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์ (มติครม. 6 ก.ค.2542) 

 

1. กําหนดนิยามของคําต่อไปนี้

“เวรรักษาการณ์” หมายถึง เวรเฝ้าดูแลเหตุการณ์ประจําสถานที่นั้น ๆ โดยมีอํานาจ หน้าที่ตามที่ผู้บังคับบัญชากําหนด

“ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวร” หมายถึง ผู้อยู่เวรรักษาการณ์นอกเวลาทําการ

“หัวหน้าเวร” หมายถึง ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรที่เป็นผู้ควบคุมพิจารณาตัดสินใจกรณีต่าง ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่เวร

“ผู้ตรวจเวร” หมายถึง ผู้ตรวจตราดูแลการปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ของผู้ปฏิบัติ

2. ให้กระทรวง ทบวง กรม สํานักงานหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐ ทั้งในส่วนกลางและ ส่วนภูมิภาค หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นที่มี กฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ จัดให้มีเวรรักษาการณ์ ประจําสถานที่ราชการหรือหน่วยงานนอกเวลาราชการ และในวันหยุดราชการตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อดูแลป้องกันความเสียหายอันจะบังเกิดแก่สถานที่ราชการหรือหน่วยงานจากกรณีต่าง ๆ 

3. การจัดผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรในแต่ละผลัดให้มีหัวหน้าเวร 1 คน และผู้อยู่ร่วมปฏิบัติหน้าที่เวร อีก 1 คน หากส่วนราชการหรือหน่วยงานแห่งใดมีจํานวนผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรน้อยไม่สะดวกแก่ การปฏิบัติให้ลดจํานวนผู้ปฏิบัติหน้าที่เวร ได้ตามความจําเป็น โดยให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา ของส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้น

4. ในแต่ละผลัดของการจัดเวรรักษาการณ์ให้มีผู้ตรวจเวร 1 คน โดยให้ผู้ตรวจเวรต้องเป็นผู้ดํารงตําแหน่งในระดับที่สูงกว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่เวร

5. การกําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งระดับใดเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ หรือผู้ตรวจเวร ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นจะกําหนดตามความเหมาะสม

6. ให้จัดทําหลักฐานการจัดผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรและผู้ตรวจเวร โดยกําหนดวัน เวลา และตัวบุคคลไว้ให้แน่นอน

7. การจัดผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรและผู้ตรวจเวรของสตรีให้จัดให้ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในเวลากลางวัน ของวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เว้นแต่ผู้มีหน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องปฏิบัติในเวลากลางคืน โดยจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรและผู้ตรวจเวรสตรี ในกรณีนี้ด้วย

8. ถ้าปรากฏว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่เวร หรือผู้ตรวจเวร จงใจละทิ้งหน้าที่ ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา ลงโทษให้เหมาะสมกับความผิดหรือความร้ายแรงแก่กรณี

9. ในกรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานใดมีหน่วยรักษาความปลอดภัยประจําสถานที่ราชการหรือมีการจ้างเอกชนให้บริการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย หรือหน่วยงานนั้น รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยเฉพาะอยู่แล้ว จะไม่จัดให้มีเวรรักษาการณ์และผู้ตรวจเวรก็ได้

10. กรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานใดมีความจําเป็นไม่อาจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้างต้นได้ ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจในการที่จะสั่งการการอยู่เวรรักษาการณ์ตามความเหมาะสมได้ โดยไม่ให้เกิดผลเสียหายกับงานและทรัพย์สินของราชการหรือหน่วยงาน

 

ถอดรหัส \"มติครม. 2542\" เงื่อนไข 10 ข้อ ขรก.เข้าเวรวันหยุด ยังจำเป็นไหม?

ถอดรหัส \"มติครม. 2542\" เงื่อนไข 10 ข้อ ขรก.เข้าเวรวันหยุด ยังจำเป็นไหม?

ถอดรหัส \"มติครม. 2542\" เงื่อนไข 10 ข้อ ขรก.เข้าเวรวันหยุด ยังจำเป็นไหม?

 

ที่มา : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี