มหาดไทย คลอด 3 แนวทางคุมทุจริตสอบ “ข้าราชการท้องถิ่น” จับได้โทษหนัก

17 ม.ค. 2567 | 14:37 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2567 | 14:41 น.

มหาดไทย ประกาศ 3 แนวทางคุมทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการท้องถิ่น หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น หากพบทุกจริตจริงมีความผิดทางแพ่ง อาญา ใครเอี่ยวเจอลงโทษทางวินัยร้ายแรง

วันนี้ (17 มกราคม 2567) ที่กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น โดยเห็นชอบแนวทางการป้องกันการทุจริต 3 ด้าน ดังนี้

1. มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหน่วยงานในการจัดสอบแข่งขัน ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและรัดกุม เพื่อป้องกันมิให้ข้อสอบและคำตอบรั่วไหลในทุกขั้นตอน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการทุจริตที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดสอบ มหาวิทยาลัยต้องถูกบอกเลิกสัญญา และต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย 

2. ผู้สมัครสอบแข่งขัน ต้องให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการสมัครเข้าสอบแข่งขัน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการสมยอมให้มีการเรียกรับเงิน เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้เป็นผู้สอบแข่งขันได้ ต้องถูกปรับให้ตก และถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้สมัครสอบแข่งขันเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ไปตลอดชีวิต รวมทั้งต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา อีกด้วย

3. ข้าราชการ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ห้ามมิให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในทางใดๆ อันจะส่งผลให้การสอบแข่งขันดังกล่าวนี้มีการทุจริต หรือมีการเรียกรับเงินเกิดขึ้น หากปรากฏหลักฐานว่ามีการกระทำดังกล่าวต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง

สำหรับการหารือครั้งนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบไปด้วย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.)  และคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.)

ทั้งนี้ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการกลางการสอบแข่งเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ดำเนินการสอบแข่งขันในตำแหน่งและอัตราว่างตามที่ อปท. ร้องขอ  

โดยที่ประชุม กสถ. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 มีมติเห็นชอบข้อกำหนดรายละเอียดการจ้าง โดยจัดทำเป็นร่างขอบเขตงานจ้างดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นำไปใช้ประกอบการดำเนินการจัดจ้างมหาวิทยาลัยของรัฐตามกฎหมาย และระเบียบเกี่ยวกับการพัสดุ 

ทั้งนี้ผลปรากฏว่ามหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับจ้างจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ มีตำแหน่งว่าง 94 ตำแหน่ง จำนวน 6,238 อัตรา  ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สมัครสอบมากกว่า 500,000 คน กระจายไปตามภูมิภาคของศูนย์สอบ และสนามสอบต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยจะกำหนดแผนการสอบแข่งขันประมาณเดือนพฤษภาคม 2567