ย้อนตำนาน "คำสั่งให้ข้าราชการอยู่เวรรักษาการณ์" ข้อถกเถียงยุค จอมพล ป.

23 ม.ค. 2567 | 14:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ม.ค. 2567 | 15:06 น.
641

ย้อนตำนาน ข้อถกเถียงกันในสภาผู้แทนราษฎร กับ การสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่สั่งให้ข้าราชการอยู่เวรรักษาการณ์ ณ สถานที่ราชการ ตั้งแต่ยุค "จอมพล ป. พิบูลสงคราม"

"ครูนอนเวร" ประเด็นร้อนในสังคมที่กลายเป็นประเด็นเมื่อวันเสาร์ที่ 20 ม.ค. 67 กับเหตุอุกอาจในโรงเรียนบ้านโป่งเกลือ ต.ดอยลาน อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งคนร้ายที่เป็นชายวัย 38 ปี ลงมือทำร้าย ครูผู้หญิง อายุ 41 ปี ที่ทำหน้าที่เป็น ‘ครูเวร’ ของโรงเรียนในวันหยุดเพียงลำเพียง ทำให้ครูได้รับบาดเจ็บสาหัส 

จากนั้นคนร้ายได้เข้ามอบตัว ทำให้ทราบว่าเป็นคนที่โรงเรียนได้จ้างเขามาตัดต้นไม้ในโรงเรียนก่อนเกิดเหตุ

 

เศรษฐา สั่งยกเลิกอยู่เวรรักษาการณ์

 

จนทำให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณครูซึ่งต้องอยู่เวรรักษาการณ์ในโรงเรียน ซึ่งการอยู่เวรรักษาการณ์ดังกล่าวแม้จะเป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542

แต่นายกรัฐมนตรีเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีนั้นไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่มีบุคคลหรือเครื่องมือในการช่วยเหลือดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการมากมาย เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย นักการภารโรง กล้องวงจรปิด 
อีกทั้งการให้ครูต้องมาอยู่เวรรักษาการณ์ก็เป็นการกำหนดหน้าที่และความเสื่อมเพิ่มเติมให้กับครู นอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพโดยไม่จำเป็นอีกด้วย 

นายกรัฐมนตรีจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายกเว้นมติวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 แก่โรงเรียนของทุกสังกัดตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมตินี้เป็นต้นไป 

ย้อนตำนาน \"คำสั่งให้ข้าราชการอยู่เวรรักษาการณ์\" ข้อถกเถียงยุค จอมพล ป.

และให้รวมถึงการอยู่เวรรักษาการณ์ของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่มีการจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือที่ใช้วิธีการอื่นใดเพื่อรักษาความปลอดภัยแล้วด้วย เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

แม้ว่าเหตุการณ์ "ครูนอนเวร" จะได้รับการแก้ไขในเบื้องต้นอย่างทันท่วงทีตามมติครม.ดังกล่าว

แต่ยังถูกตั้งคำถามของหมู่ข้าราชการสาขาอาชีพอื่นนอกจากอาชีพครู ถึงเหตุผล ความจำเป็น และที่ไปที่มาของการที่ต้องอยู่เวรรักษาการณ์ และสะท้อนมุมมองว่ายังจำเป็นหรือไม่ กับการอยู่เวรรักษาการณ์

ฐานเศรษฐกิจ ค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจใน "ราชกิจจานุเบกษา" ซึ่งเป็นการนำประเด็น การสั่งให้ข้าราชการอยู่เวรรักษาการ ไปถกเถียงในสภาผู้แทนราษฎร ในยุคที่มี "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

 

คำถามจาก สส.ญาติ ไหวดี ถึงจอมพล ป.

 

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 70 ตอนที่ 46 วันที่ 14 ก.ค. 2496 ได้บันทึกประวัติศาสตร์เรื่องราวกล่าวเอาไว้

ซึ่งเป็น "คําตอบคําถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" ของ "นายญาติ ไหวดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ ในขณะนั้น ที่ถามจอมพลป. ถึง "เรื่องการสั่งให้ข้าราชการอยู่เวรรักษาการ สถานที่ราชการ"

 

"นายญาติ ไหวดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์

สส.ญาติ ไหวดี ได้ถามจอมพล ป. ในสภาฯจำนวน 4 ข้อ ว่า

1. ตามที่รัฐบาลสั่งให้ข้าราชการในส่วนภูมิภาคทุกแผนกทําหน้าที่เป็นเวรเฝ้าสถานที่ราชการแห่งนั้นๆ เป็นประจําทุกๆ คืนนั้น มีความประสงค์เพื่ออะไร ถ้าเกิดการเสียหายขึ้น ข้าราชการผู้อยู่เวร เฝ้าจะได้รับโทษหรือไม่ เพราะเหตุใด

2. ในการสั่งให้ข้าราชการเป็นเวรเฝ้าสถานที่ราชการนั้น ท่านทราบหรือไม่ว่าข้าราชการสตรีและครูตามโรงเรียนต่าง ๆ ที่ถือปฏิบัติ ตามคําสั่งนี้ต่างได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้จะยกเว้นให้ได้หรือไม่

3. ในฐานะที่ข้าราชการถือปฏิบัติตามคําสั่งข้อ 1 นี้ ปฏิบัติหน้าที่นอกเหนือไปจากหน้าที่และนอกเหนือจากเวลาราชการ ดังนี้รัฐบาลได้จ่ายค่าพาหนะและค่าเบี้ยเลี้ยงให้ด้วยหรือไม่

4. ขอทราบว่าโรงเรียนประชาบาลตามตําบลต่าง ๆ จะต้องอยู่ เวรเฝ้ารักษาการด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด

"จอมพล ป. พิบูลสงคราม"

คำตอบของ จอมพล ป.

จากนั้น ราชกิจจานุเบกษา ได้ระบุ คําตอบของนายกรัฐมนตรีที่ตอบคำถามทีละข้อ

1. ที่รัฐบาลสั่งให้ข้าราชการในส่วนภูมิภาคทุกแผนกทําหน้าที่ เป็นเวรเฝ้าสถานที่ราชการเป็นประจํานั้น เนื่องจากปรากฏว่าได้เกิด เพลิงไหม้สถานที่ราชการ ทางราชการจึงประสงค์จะป้องกันมิให้เกิด การเสียหายแก่สถานที่ราชการ 

ตลอดจนเอกสาร หนังสือสําคัญใน ทางราชการโดยทั่วไปขึ้นอีก และเมื่อเกิดเหตุอย่างใดขึ้นก็จะได้ช่วยกันติดต่อแก้ไขได้ทันท่วงที 

นอกจากนั้นหากมีราชการด่วนยังจะได้ช่วยปฏิบัติให้ลุล่วงไปได้เป็นผลดีแก่ราชการ ถ้าเกิดการเสียหายขึ้น ผู้อยู่เวรจะต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้น ย่อมแล้วแต่พฤติการณ์ของผู้อยู่เวร ถ้ามิใช่เนื่องจากความประมาทเลินเล่อหรือบกพร่องในการ ดูแลรักษาสถานที่ราชการเท่าที่ควรแล้ว ผู้อยู่เวรก็ไม่ต้องรับโทษ

2.การสั่งให้ข้าราชการอยู่เวรเฝ้าสถานที่ราชการนั้น โดยปกติถือว่าราชการนั้นมีสิทธิ์และหน้าที่เท่าเทียมกันทั้งข้าราชการชายและข้าราชการสตรี 

แต่อย่างไรก็ดี ผู้บังคับบัญชาย่อมใช้ดุลยพินิจ พิจารณาทั้งการได้ โดยมิให้ข้าราชการสตรีต้องได้รับความเดือดร้อน เกินสมควร เช่น อาจสั่งให้ข้าราชการสตรีอยู่เวรเฝ้าสถานที่ราชการในเวลากลางวัน หรือวันหยุดราชการเฉพาะเวลากลางวันก็อาจกระทํา ได้ ซึ่งจะเป็นการผ่อนเบาให้แก่ข้าราชการสตรี

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้จัดอยู่ ในส่วนกลาง ก็ได้ให้ผลัด เปลี่ยนกันอยู่ ถ้าโรงเรียนใดมีครูน้อยก็ให้ภารโรงช่วยเป็นเวรด้วย ส่วนมากครูสตรีมักจะจัดให้อยู่ในเวรเวลากลางวัน นอกจากจะมีที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณโรงเรียน ก็ให้ช่วยดูแลในเวลากลางคืน 

สําหรับส่วนภูมิภาคได้มอบให้จังหวัดพิจารณาจัดการตามความเหมาะสม ไม่ ปรากฏว่าครูได้รับความเดือดร้อนแต่อย่างใด

3. การปฏิบัติราชการตามข้อ 1. ถือว่าเป็นการที่ข้าราชการปฏิบัติราชการตามปกติ ตามระเบียบของกระทรวงการคลังไม่มีทางที่จะจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ได้

4. การจัดเวรเฝ้ารักษาโรงเรียนประชาบาลตามตําบลต่าง ๆ นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้มอบให้อยู่ในดุลยพินิจของจังหวัดที่จะสั่งปฏิบัติการตามความเหมาะสมให้เป็นไปตามความประสงค์ของคณะรัฐมนตรี

แต่ขออย่าให้การอยู่เวรก่อให้เกิดความเสียหายแก่การปฏิบัติหน้าที่ของครูและเมื่อหายแก่การศึกษาของเด็กโดยไม่จำเป็น

 

ย้อนตำนาน \"คำสั่งให้ข้าราชการอยู่เวรรักษาการณ์\" ข้อถกเถียงยุค จอมพล ป.

ย้อนตำนาน \"คำสั่งให้ข้าราชการอยู่เวรรักษาการณ์\" ข้อถกเถียงยุค จอมพล ป.

ย้อนตำนาน \"คำสั่งให้ข้าราชการอยู่เวรรักษาการณ์\" ข้อถกเถียงยุค จอมพล ป.

ย้อนตำนาน \"คำสั่งให้ข้าราชการอยู่เวรรักษาการณ์\" ข้อถกเถียงยุค จอมพล ป.

 

ที่มา : กระทู้ถามที่ ส. ๔๑/๒๔๙๕ ของนายญาติ ไหวดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เรื่อง การสั่งให้ข้าราชการอยู่เวรรักษาการสถานที่ราชการ