ครั้งแรก! ตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นบิ๊กดาต้าของประเทศ

02 มิ.ย. 2566 | 19:39 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2566 | 19:49 น.
12.3 k

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ จัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ครั้งแรก เป็นบิ๊กดาต้าของประเทศไทย ศูนย์รวมข้อมูลให้ทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมมือใช้ประโยชน์ กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 

วันนี้ (2 มิถุนายน 2566) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2566 โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เพื่อให้การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐ และเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ


รวมทั้งเพื่อให้เกิดการร่วมมือในข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานของรัฐและเอกชนสำหรับการแก้ไขปัญหา การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการให้บริการการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สมควรจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้นเป็นองค์การมหาชน


โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งส่งเสริม ประสาน และวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืน


สำหรับสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งองค์การมหาชนขึ้น เรียกว่า สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า “สขญ.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Big Data Institute (Public Organization) เรียกโดยย่อว่า “BDI” โดยให้สถาบันมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และอาจตั้งสำนักงานสาขาได้ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

หน้าที่ของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่

การจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์ และหน้าที่ดังต่อไปนี้


1. จัดทำยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี


2. ส่งเสริม ประสาน และให้บริการแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ในการแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและการให้บริการ หรือการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ


3. ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งให้บริการคำปรึกษาหรือเป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน


4. ส่งเสริมหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการสร้างนวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐานในระดับสากล เพื่อเพิ่มศักยภาพการบูรณาการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ


5. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกิจด้านการวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ


6. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรของประเทศด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่


7. ดำเนินการอื่นเพื่อพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศตามที่กฎหมายกำหนดหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมายเพื่อบูรณาการการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ สถาบันอาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันหรือร่วมดำเนินการกับสถาบันตามมาตรานี้ได้

อ่านรายละเอียด จัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ได้ที่นี่