บทสวดเวียนเทียน วันมาฆบูชา 2566 พร้อมความสำคัญ การเวียนเทียน

05 มี.ค. 2566 | 18:46 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2566 | 19:02 น.
2.6 k

แจกบทสวดมนต์ สำหรับการเวียนเทียน ในวันมาฆบูชา 2566 อย่างถูกต้อง พร้อมทำความเข้าใจความสำคัญของการเวียนเทียน ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา เพื่อให้ได้บุญในวันมาฆบูชานี้

วันเพ็ญเดือนมาฆะ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา สำหรับปี 2566 นี้ ตรงกับวันที่ 6 มีนาคม 2566 เป็นวันที่มีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้นพร้อม 4 ประการ หรือที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ

  1. เป็นวันที่ พระสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
  2. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
  3. พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์
  4. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ์

และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป โดยโอวาทปาฏิโมกข์นั้น  ถือเป็นหลักธรรมคำสอนที่สำคัญ หรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง, การบำเพ็ญแต่ความดี, การทำจิตของตนให้ผ่องใส

วันมาฆบูชา

พุทธศาสนิกชน มักเข้าวัดเพื่อทำบุญ ถือศีล หรือฟังเทศน์ฟังธรรมวันนี้ รวมถึงการเวียนเทียนในตอนกลางคืนด้วย 

การเวียนเทียน คืออะไร

การเวียนเทียน เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพบูชาต่อสิ่งนั้น ๆ อย่างสูงสุด โดยการกระทำเวียนประทักษิณ โดยให้สิ่งที่เวียนอยู่ทางขวามือของตน รอบปูชนียวัตถุ หรือปูชนียสถาน 3 รอบ ด้วยอาการสำรวมเคารพ พร้อมทั้งน้อมใจระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย จัดเป็นบุญกิริยาอย่างหนึ่ง

โดยอาจมีถือดอกไม้ ธูป เทียน ประกอบการเวียนเทียน หรือเพียงการประนมมือด้วยความเคารพ และน้อมใจระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยโดยไม่มีดอกไม้ ธูป เทียน ก็ได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้ศาสนสถานหลายแห่ง งดการจุดธูป เทียน เพื่อลดการเกิดฝุ่น PM 2.5

บทสวดเวียนเทียน

ระหว่างเดินเวียนรอบที่หนึ่ง พึงตั้งใจระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ด้วยบทว่า

อิติปี โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปูริสะทัมมสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

รอบที่สอง ระลึกถึงพระธรรมคุณด้วยบทว่า

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ

รอบที่สาม ระลึกถึงพระสังฆคุณด้วยบทว่า

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระณีโย
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

เมื่อครบสามรอบแล้ว ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปวางหรือปักไว้ ณ ที่ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้
แล้วเข้าไปกราบพระ 3 ครั้ง แล้วสวดบทแผ่เมตตา กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญ