กรมการแพทย์แผนไทยฯแนะ 5 เมนูสมุนไพร ถวายพระสงฆ์ วันมาฆบูชา

05 มี.ค. 2566 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2566 | 10:43 น.

กรมการแพทย์แผนไทยฯแนะนำประชาชนถวายอาหารพระสงฆ์ ควรเน้นอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ชู 5 เมนูอาหารสมุนไพรดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เนื่องในวันมาฆบูชา

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2566 นี้ เป็นวันมาฆบูชา ซึ่งวันดังกล่าวจะมีพุทธศาสนิกชนมาร่วมในพิธีทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมาก ทางกรมฯ จึงเล็งเห็นปัญหาสำคัญสำหรับอาหารที่พุทธศาสนิกชนนำมาใส่บาตร ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่มีรสชาดหวาน มัน เค็ม มากเกินไป เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคในพระสงฆ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non- Communicable Diseases : NCDs) เช่น

โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น สาเหตุสำคัญของการเกิดโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs มีปัจจัยหลักมาจากการรับประทานอาหารดังกล่าว 

ดังนั้น ในวันมาฆบูชา การทำบุญใส่บาตรแด่พระสงฆ์ ควรคำนึงถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพพระภิกษุสงฆ์เป็นหลัก เน้นถวายอาหารสมุนไพรที่ช่วยดูแลสุขภาพพระสงฆ์

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงขอแนะนำ พืชผักสมุนไพรและผักพื้นบ้าน ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs มาประกอบอาหาร เช่น กระเทียม ในกระเทียมมีสาร allicin ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง

มะระขี้นก ในมะระขี้นกมีสาร charantin สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน และเสริมการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด ช้าพลู ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยขับลม ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

กะเพรา ใช้บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม และสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ขมิ้นชัน นอกจากจะใช้บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อขับลมแล้ว ยังช่วยควบคุมภาวะน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวาน ได้อีกด้วย 

กรมการแพทย์แผนไทยฯแนะ 5 เมนูสมุนไพร ถวายพระสงฆ์ วันมาฆบูชา

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนเมนูอาหารที่อยากแนะนำ เป็นเมนูที่มีประโยชน์ และ ช่วยส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ ให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs  ซึ่งเมนูส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยเครื่องเทศและสมุนไพรเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย เช่น

1.แกงป่ามะระขี้นก        

2.แกงจืดใบกะเพรา

3.ปลานึ่งมะนาว

4.ขนมจีนน้ำยา

5.ไก่ต้มขมิ้น

สำหรับข้อแนะนำ การปรุงรสอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ควรปรุงรสจัดจ้าน ควรลดความหวาน ลดความมัน และ ลดความเค็ม รวมถึงงดอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เมนูกะทิ เมนูทอด เป็นต้น  
 

นอกจากการควบคุมอาหารแล้ว พระภิกษุสงฆ์สามารถออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การเดินจงกรม เดินบิณฑบาต และ กวาดลานวัด เป็นต้น