ประเพณีปฎิบัติของพุทธศาสนิกชนใน “วันมาฆบูชา”

05 มี.ค. 2566 | 09:16 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2566 | 09:18 น.

“วันมาฆบูชา” มีความสำคัญในเชิงพุทธศาสนา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์เป็นครั้งแรกแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย

สำหรับ วันมาฆบูชาปี2566 ตรงกับวันที่ 6 มีนาคม โดยเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง วันเพ็ญเดือนมาฆะ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3

"มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า"มาฆบุรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง

 

ในวันพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปฎิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

ประเพณีปฎิบัติของพุทธศาสนิกชนใน “วันมาฆบูชา”

 

 โอวาทปาฏิโมกข์

โอวาทปาฏิโมกข์ - หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา)

คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)

สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา

สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา

นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา

น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี

สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ

อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ

อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ

คำแปล:

คำแปล :คาถาโอวาทปาฏิโมกข์

การไม่ทำความชั่วทั้งปวง, การบำเพ็ญแต่ความดี, การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง,

พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม,

ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,

ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

การไม่กล่าวร้าย, การไม่ทำร้าย, ความสำรวมในปาฏิโมกข์,

ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร, ที่นั่งนอนอันสงัด, ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า

"ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส"

 

บทสวดโอวาทปาฏิโมกข์

จาตุรงคสันนิบาต

คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ "จาตุร" แปลว่า ๔ "องค์" แปลว่า ส่วน "สันนิบาต" แปลว่า ประชุม ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ

๑. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย

๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

๓. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุกๆ องค์

๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ

 

การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันนี้ก็คือ

- การทำบุญตักบาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา

- ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียนรอบพระอุโบสถพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำถวายดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดินเวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัดเตรียมไว้เป็นอันเสร็จพิธี

 

ขอบคุณและอนุโมทนาบุญ : http://dhammathai.org/day/maka.php