วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 ต้องทำอย่างไร น่ากลัวแค่ไหน ดูเลยที่นี่

02 ก.พ. 2566 | 04:29 น.
610

วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 ต้องทำอย่างไร น่ากลัวแค่ไหน ดูเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อความไว้ให้แล้ว กรมอนามัยแนะอย่าตื่นตระหนก ติดตามข่าวสาร

วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 ต้องทำอย่างไร เป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่ค่าฝุ่นละอองจิ๋วในรดับที่อันตรายต่อสุขภาพเริ่มมีมากขึ้นในหลายพื้นที่

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปไขคำตอบ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจาก PM 2.5

กรมอนามัย โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี แนะนำวิธีดูแลสุขภาพตัวเอง และบุคคลในครอบครัวเพื่อรับมือกับฝุ่น PM2.5 ดังนี้ 

  • ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ และปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • สำรองหน้ากากป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 
  • ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แกงจืดตำลึง ผัดผักบุ้ง ฟักทองผัดไข่ ผัดบรอกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แครอทลวก บรอกโคลีลวกจิ้มน้ำพริก เป็นต้น              
  • ทำความสะอาดบ้าน และอุปกรณ์ภายในบ้าน โดยเฉพาะจุดที่สะสมฝุ่น เช่น แอร์ พัดลม มุ้งลวด เครื่องนอน และเน้นการทำความสะอาดด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำ 
  • หมั่นตรวจเช็กบ้านปิดช่องหรือรู ตามขอบประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 จากภายนอกไม่ให้เข้ามาในอาคารในช่วงฝุ่นสูง
  • วันที่ฝุ่น "PM2.5"  เกินค่ามาตรฐาน ควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งให้เปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคารแทน 
  • สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
  • สังเกตตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ 
  • ช่วยกันลดฝุ่น PM2.5 เช่น ลดการปิ้งย่างที่ใช้เตาถ่าน งดจุดธูปเทียนทั้งภายในและภายนอกอาคาร งดการเผาในที่โล่ง ลดการใช้รถดีเซลที่ปล่อยควันดำ รวมถึงร่วมปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยดักฝุ่นละออง

อย่างไรก็ดี กรมอนามัย ยังระบุด้วยว่า ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก แต่ให้ตื่นตัวและติดตามข่าวสาร เพราะปัญหาฝุ่น "PM2.5" ไม่ได้เกิดทุกพื้นที่ ทุกเวลา หากเราใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ส่วนความอันตรายของฝุ่น PM 2.5 นั้น ล่าสุดศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า

ทุกๆ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ของฝุ่นจิ๋วพิษ 2.5 (PM 2.5) จะเพิ่มความเสี่ยงของการตาย 4.14%