"ฝุ่น PM 2.5" คืออะไร อันตรายแค่ไหน ถึงตายหรือไม่ คลิกดูเลย

01 ก.พ. 2566 | 14:34 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2566 | 14:34 น.

"ฝุ่น PM 2.5" คืออะไร อันตรายแค่ไหน ถึงตายหรือไม่ คลิกดูเลยที่นี่ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้ว หลังฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วสร้างปัญหาให้กับการดำเนินชีวิต

ฝุ่น PM2.5 คืออะไร อันตรายอย่างไร เริ่มเป็นคำถามที่กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากที่ค่าฝุ่น PM 2.5 กลับมาสร้างปัญหาให้กับการดำเนินชีวิตในหลายพื้นที่

"ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปไขคำตอบเพื่อความกระจ่าง

ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์

โดยฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วนี้ เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด เช่น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง ซึ่งเป็น 2 สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่

ทั้งนี้ ฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และต้องป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานป้องกันฝุ่นขนาดเล็กโดยเฉพาะ

ความอันตรายของ "PM 2.5" นั้น เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เลย โดยล่าสุดศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า

ทุกๆ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ของฝุ่นจิ๋วพิษ 2.5 (PM 2.5) จะเพิ่มความเสี่ยงของการตาย 4.14%
 

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของ PM 2.5 นั้น ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ กทม.และปริมณฑล คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ พบสารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐานได้แก่ PM2.5 ตรวจพบค่าระหว่าง 55-99 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ 

โดยฝุ่น "PM 2.5" เกินมาตรฐานในระดับอันตรายสีแดง 3 พื้นที่สูงสุด คือ 

  • ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ 99 มคก./ลบ.ม.
  • ริมถนนบางนา-ตราด เขตบางนา 97 มคก./ลบ.ม. 
  • ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม 93 มคก./ลบ.ม.

ขณะที่ภาพรวมทั่วประเทศพบฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานใน 49 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ลำพูน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง บึงกาฬ หนองคาย เลย อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สกลนคร มุกดาหาร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครราชสีมา และ บุรีรัมย์

โดยภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 38-100 มคก./ลบ.ม. สูงสุดในระดับอันตรายสีแดง ที่ ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ 100 มคก./ลบ.ม. และ ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน 92 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 53-115 มคก./ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐานสูงสุดในระดับอันตรายสีแดง ที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม 115 มคก./ลบ.ม.

ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 37-132 มคก./ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐานสูงสุดในระดับอันตรายสีแดง ที่ ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม 132 มคก./ลบ.ม. และ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี 85 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 38-63 มคก./ลบ.ม. ส่วนภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 13-34 มคก./ลบ.ม.