"กกพ."หนุน 81.5 ล. ดัน กทม.ติด"โซลาร์เซลล์" กว่า2.795 เมกฯใน รพ.

31 ม.ค. 2566 | 15:13 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 15:14 น.

"กกพ."หนุน 81.5 ล. ดัน กทม.ติด"โซลาร์เซลล์" กว่า2.795 เมกะวัตต์ในโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครจำนวน 10 แห่ง วางเป้าลดค่าไฟฟ้ากว่าปีละ 14 ล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.ได้ดำเนินการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับโรงพยาบาล ในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาล 

ทั้งนี้ ในระยะที่ 1 สำนักงาน กกพ.ได้สนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวน 10 โรงพยาบาล ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2.795 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามนโยบายคาร์บอนคุมได้ กทม. ปลอดคาร์บอน (Bangkok Metropolitan Administration: BMA Net Zero) ได้กว่า 2,200 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และคาดว่าจะลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครได้ปีละ 14 ล้านบาท 

 

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเล็งเห็นถึงความสำคัญจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประชาชน ในปี พ.ศ. 2561 กรุงเทพมหานครได้มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 43.71 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี จากกิจกรรมต่างๆได้แก่ การใช้พลังงานในอาคาร ภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม การจัดการขยะและบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

กกพ.หนุน 81.5 ล. ดัน กทม.ติดโซลาร์เซลล์กว่า2.795 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในประเภทอาคารที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง และใช้ไฟฟ้าต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อการบริการด้านสาธารณสุขให้กับประชาชน การดำเนินงานร่วมกันในครั้งนี้จะสนับสนุนการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดความเสี่ยง ต้นทุน 

และความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ และสอดคล้องกับแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ไม่น้อยกว่า 19% และได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

นายนรินทร์ โอภามุรธาวงศ์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในช่วงปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมานับเป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่สำคัญในการดำเนินการตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 ซึ่งประเทศไทยจะต้องเตรียมการรองรับ การปรับตัว 

รวมถึงมาตรการระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นมาตรการหนึ่งตามแผนพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งกำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 8,740 เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2580 

"ความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กกพ. และกรุงเทพมหานคร ในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จึงเป็นการดำเนินการที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์"