ไฟฟ้าสีเขียวคืออะไร ทำไมต้องใช้ หลัง กกพ. จ่อออก พ.ร.บ. ช่วยเอกชน

30 ม.ค. 2566 | 09:32 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2566 | 10:04 น.
1.5 k

ไฟฟ้าสีเขียวคืออะไร ทำไมต้องใช้ หลัง กกพ. จ่อออก พ.ร.บ. ช่วยเอกชน ชี้มีความต้องการซื้อและได้รับการรับรองการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

ไฟฟ้าสีเขียวคืออะไร ทำไมจะต้องใช้ กำลังเป็นคำถามที่ได้รับความสนใจ หลังจากราคาค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้น

อีกทั้งยังมีเรื่องของแนวโน้มของความพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาเกี่ยวข้อง

"ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปไขคำตอลให้คลายสงสัย

"ไฟฟ้าเขียว" หรือพลังงานสีเขียว (Green Energy) คือ พลังงานหรือแหล่งที่มาของพลังงาน ซึ่งมาจากวัตถุดิบที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ 

พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)

คือ พลังงานทดแทนชนิดหนึ่งที่สามารถผลิตได้จากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ที่อยู่ในรูปของแสงแดด ซึ่งให้ทั้งพลังงานแสงและพลังงานความร้อน พลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นพลังงานหมุนเวียนสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสูง ไม่มีวันหมด และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย หลัก ๆ คือ การผลิตกระแสไฟฟ้าและการผลิตพลังงานความร้อน

พลังงานลม

ลมเป็นแหล่งพลังงานสะอาดชนิดหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่โบราณในกิจการต่าง เช่น กังหันลมเพื่อการสูบน้ำ ต่อมาได้นำโครงสร้างมาพัฒนาเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากลมมีศักยภาพในการผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี  
 

พลังงานน้ำ

น้ำเป็นพลังงานสะอาด เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของน้ำ จากที่สูงลงที่ต่ำ รูปแบบที่คุ้นเคย คือ การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ เพื่อสะสมพลังงานศักดิ์เมื่อเปิดประตูที่กั้นทางเดินของน้ำ พลังงานศักย์ ที่สะสมอยู่จะเปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์ สามารถนำไปฉุดกังหัน และต่อเชื่อมเข้ากัยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นกระแสไฟฟ้าขึ้น

พลังงานชีวภาพ (Biogas Energy)

คือ พลังงานเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งที่ได้จากกระบวนการย่อยสลายวัสดุทางชีวภาพด้วยการอาศัยแบคทีเรียภายใต้สภาวะไร้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion) จนเกิดเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 2 แนวทาง คือ เชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าและความร้อน และเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตก๊าซหุงต้มและก๊าซเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ เช่น LPG และ CNG โดยพลังงานชีวภาพถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการผลิตพลังงานชีวมวล แต่พลังงานชีวภาพจะมีการใช้วัตถุดิบและมีกระบวนการซับซ้อนมากกว่าพลังงานชีวมวล

แหล่งผลิตไฟ้าดัวกล่าวจัดเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดภาวะโลกร้อน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยใช้พลังงานให้น้อยลงต่อหน่วยผลิตที่เพิ่มขึ้น และลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตทั้งหมด 

ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil) ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงก่อให้เกิดก๊าซพิษที่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดภาวะโลกร้อน เช่น ฝุ่นละออง คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น 
 

ทำไมจึงควรใช้พลังงานสีเขียว

  • เหมาะกับเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และตรงกับมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงระบบขององค์กร รวมถึงมาตรฐานสากลสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรให้เกิดผล
  • แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการรักษาสภาพแวดล้อม
  • เป็นการนำวาระท้องถิ่นและวัตถุประสงค์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้ในภาคปฏิบัติ
  • เป็นการสร้างงานในด้านการให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เพิ่มความปลอดภัยและลดการผันผวนที่เกิดขึ้นกับแหล่งพลังงานธรรมชาติ
  • พัฒนาคุณภาพสภาพอากาศ 

ล่าสุดนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ระยะต่อมาคงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้ "พลังงานสีเขียว" ตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจการค้า และการลงทุนของภาคเอกชนระหว่างประเทศ

หลังมีความต้องการซื้อและได้รับการรับรองการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนจากมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) และข้อกีดกันทางการค้าการลงทุนอื่นๆ 

หนึ่งในกลไกสำคัญ ได้แก่ ไฟฟ้าสีเขียว หรือ Green Tariff ที่ออกแบบให้มีการขายไฟฟ้าพร้อมใบรับรอง (Rec) ที่สามารถระบุที่มาของแหล่งผลิตไฟฟ้าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและยุ่งยากกับกระบวนการออกใบรับรอง ปัจจุบัน Green Tariff ได้รับความนิยม และมีให้ใช้แล้วในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ

สำหรับประเทศไทยที่มีโครงสร้างการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Regulated Market นั้น กกพ. มีแนวคิดที่จะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้จากการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ. 2565 - 2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ที่รัฐได้รับสิทธิ์ใน REC มาเป็นองค์ประกอบหลักของ Green Tariff

พร้อมเตรียมขยายผลให้รวมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. ในอนาคตที่จะมีการผลิตเพิ่มเติมตามแผน PDP และการผลิตไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ที่รัฐมีกรรมสิทธิ์ใน REC ให้มารวมอยู่ใน Green Tariff

ขณะนี้ กกพ. อยู่ระหว่างเตรียมหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนแห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถกำหนด อัตรา Green Tariff ได้อย่างเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียว และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ