นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงแนวโน้ม "ค่าไฟ" งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. ว่า หากทุกปัจจัยเป็นไปในทางที่ดีหมด ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ราคาแอลเอ็นจีคงที่และปริมาณก๊าซในอ่าวไทยเพิ่มเติมตามที่พยากรณ์ไว้
อาจจะทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (Ft) ลดลงได้ ในกรณีที่คิดแบบสะท้อนต้นทุน แต่ทั้งนี้ก็พิจารณาอีกหนึ่งปัจจัยคือ การทยอยจ่ายคืนหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่แบกรับภาระค่า ft เอาไว้
อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าขณะนี้ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าค่า Ft จะลดลงได้หรือไม่ แม้ว่าขณะนี้ราคาแอลเอ็นจีสปอร์ตจะลดลงมาแล้ว เพราะต้องพิจารณาหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ราคาแอลเอ็นจีสปอร์ต รวมถึงปริมาณก๊าซในอ่าวไทย ที่จะผลิตได้เพิ่มขึ้นมากเพียงใด เพราะเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อค่า Ft
ลุ้นสถานการณ์ถ้าดี ค่าเอฟทีงวดหน้าลด
นายคมกฤช ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีการพยากรณ์ก๊าซในอ่าวไทยจะเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 400 ในเดือนเมษายนและเป็น 600 ในปลายปี 2566 และปริมาณก๊าซในเมียนมาที่ไทยนำเข้ามาจะยังคงรักษาปริมาณเดิมได้หรือไม่
ถ้าได้ตามปัจจัยทั้งหมดที่ดีขึ้นก็จะทำให้ค่าเอฟทีงวด 2 มีแนวโน้มลดลง โดยจะสามารถเห็นทิศทางได้ในเดือนมีนาคม เพราะจะมีการเช็กว่าในช่วงที่ผ่านมา คือ รอบตั้งแต่ธันวาคม-กุมภาพันธ์ ค่าต่างๆ เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้หรือไม่ หรือมีข้อเท็จจริงอย่างไร
ส่วนการช่วยเหลือภาคเอกชนสำหรับค่าเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค.จากที่ได้แบ่งการคำนวณค่าเอฟที 2 ค่าคืออัตราของภาคประชาชนที่ 4.20 บาท และภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นผู้ใช้ไฟในอัตรา 5.33 บาทนั้น เป็นการคำนวณตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กบช.) เพราะปกติเอฟทีมีค่าเดียวมาโดยตลอด
โดย มติ กพช. ในรอบดังกล่าวนั้น ได้มีมติให้นำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาให้ประชาชนใช้ก่อน และระบุให้ชัดเจนว่าให้ดำเนินการในช่วงระหว่างเดือนม.ค. - เม.ย. เท่านั้น ดังนั้นถ้าไม่มีมติ กพช. เพื่อต่อเวลาก็คงจะต้องกลับไปใช้ค่าเอฟทีหนึ่งค่าเท่าเดิม โดยจะคำนวณตามสมมติฐานที่วางไว้
ส่วนประเด็นที่ทางภาคเอกชนแสดงความกังวลเรื่องค่าเอฟทีของไทยสูงกว่าเวียดนามเท่าตัว ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและการดึงดูดนักลงทุน ทางคณะกรรมการ กกพ. จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง