หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง มีรถยนต์ผ่อนไม่ไหว ถูกยึดจำนวนมาก ขณะไฟแนนซ์น้ำท่วมปากขยับตัวยาก จนต้องคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ยังซบเซา ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ผู้คนยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย สะท้อนได้จากตลาดรถยนต์ในประเทศในรอบ10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ต.ค.67) ปิดยอดขาย 476,350 คัน ลดลง 26.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ขณะที่ยอดขายเฉพาะเดือนตุลาคมทำได้ 37,691 คัน ถือเป็นยอดขายรายเดือนที่ต่ำที่สุดในรอบ 54 เดือน นับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 (มีนาคม ปี 2563 ขายได้ 30,109 คัน)
ทั้งนี้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วง 10 เดือนปีนี้ จำนวน 476,350 คัน แบ่งเป็น ตลาดรถยนต์นั่งมีจำนวน 185,421 คัน ลดลง 23.3% และปิกอัพ 166,851 คัน ลดลง 40.2% โดยทุกค่ายรถยนต์หลัก ทั้งญี่ปุ่น อเมริกัน จีน ยอดขายร่วงถ้วนหน้า มีเพียงบีวายดี ยักษ์ใหญ่จากจีนรายเดียวที่ทำยอดขายเป็นบวก
โดยรถยนต์บีวายดี ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนตุลาคม 2567 มียอดจดทะเบียน 23,532 คัน เพิ่มขึ้น 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ในตลาดรถยนต์ไทย แซงหน้ามิตซูบิชิ และตามหลัง โตโยต้า อีซูซุ และฮอนด้า ขณะที่โตโยต้า ปิดยอด 182,380 คัน ลดลง 17.2% อีซูซุ 71,361 คัน ร่วงไป 45.6% และฮอนด้า 62,448 คัน ติดลบ 19.1%
นายประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเรเว่ ดิสทริบิวเตอร์บีวายดี ในไทย เปิดเผยว่า ปี 2567 เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญสำหรับกลุ่มธุรกิจเรเว่ที่ได้สานต่อวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ NEW ENERGY FOR ALL และบีวายดี ยังคงทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องสวนทางตลาด ด้วยอัตราการเติบโต 7% ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
“เราเชื่อว่าการเปิดตัวและประกาศราคา BYD SEALION 7 รวมถึงการเผยโฉม BYD SHARK 6 ในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 จะสร้างความคึกคักให้กับอุตสาหกรรมและมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี” นายประธานวงศ์ กล่าว
ล่าสุดในงาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 บีวายดี เปิดตัวรถใหม่ BYD SEALION 7 โดยรุ่น Premium ราคาขายปลีกแนะนำ 1,249,900 บาท แต่เปิดราคา Early Bird 2024 Motor Expo 1,149,900 บาท ส่วนตัวท็อป AWD Performance ราคาขายปลีกแนะนำ 1,399,900 บาท แต่ราคา Early Bird 1,249,900 บาท
ส่วนโมเดลที่ขายอยู่เดิมBYD SEAL ปรับลดราคาสูงสุด 4 แสนบาท โดยรุ่น Dynamic เหลือราคาขาย 999,900 บาท รุ่น Premium 1,099,900 บาท และรุ่น AWD Performance 1,199,900 บาท
ค่ายอื่น ๆ เปิดแคมเปญสู้ยิบตา เช่น Aion Y Plus ให้ส่วนลด 270,000 บาท ทำให้รุ่น 410 Premium เหลือ 769,900 บาท รุ่น 490 Premium 829,900 บาท ส่วนเอสยูวีรุ่นใหม่ AION V เปิดราคา 999,900 บาท
ขณะที่ค่าย เอ็มจี และ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ต่างมีส่วนลดให้รถ EV ของตนเองเป็นหลักแสนบาทเช่นกัน ส่วนแบรนด์ใหม่ที่เปิดตัวในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 เป็นครั้งแรกคือ Geely Riddara LeapMotor และ JY AIR ซึ่งมี EV ราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาททำตลาดทั้งสิ้น
จากสถานการณ์ 10 เดือนที่ผ่านมา ที่ยังทำยอดขายรวมได้ไม่ถึง 4.8 แสนคัน หลายค่ายรถยนต์ประเมินว่า ตลาดรถยนต์ไทยปีนี้อาจไปไม่ถึง 6 แสนคัน ซึ่งจะเป็นตัวเลขยอดขายที่ต่ำสุดในรอบ 15 ปี (นับตั้งแต่ปี 2552)
นายรัฐการ จูตะเสน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศภาพรวมช่วง 10 เดือนปีนี้ ที่มียอดขายลดลง 26% ในจำนวนนี้กลุ่มปิกอัพยอดขายลดลง 40% โดยตลาดรถยนต์รวมในปีนี้ คาดจะทำได้ 5.67 แสนคัน ในจำนวนนี้เป็นของฟอร์ด 2.1 หมื่นคัน ซึ่งยอดตกจากปี 2566 ไปพอสมควร
สำหรับตลาดรถยนต์รวมปี 2567 ที่ต่ำกว่า 6 แสนคัน ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 15 ส่วนเซกเมนต์ปิกอัพ ต่ำสุดในรอบ 23 ปี ในส่วนของฟอร์ด แม้ยอดขายในประเทศจะลดลงไป แต่โรงงานผลิตรถยนต์ฟอร์ด ทั้งสองแห่งคือ FTM และ AAT (ร่วมทุนกับมาสด้า) ยังมีหน้าที่ผลิตเพื่อส่งออกถึง 70-80% จากกำลังผลิตรวมเกือบ 2 แสนคันในปีนี้ (ลดลงจากปี 2566 ที่ผลิตรวมประมาณ 2.09 แสนคัน)
“ในปี 2568 ฟอร์ดมองว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศจะทำได้ทั้งสิ้น 6.2 แสนคัน โดยหวังมาตรการภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือ มีการผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับ GDP มีการเติบโต ส่วนมาตรการช่วยเหลือตลาดในประเทศ ที่มีการพูดคุยเรื่องรถเก่าแลกรถใหม่ ก็เป็นการกระตุ้นดีมานด์ ต้องรอดูรายละเอียดความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง” นายรัฐการ กล่าว
นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในปัจจุบันค่อนข้างมีความยากลำบาก หากเปรียบเทียบกับปี พ.ศ.2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ที่มียอดการผลิตราว 2 ล้านคัน โดยผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน และผลิตเพื่อขายในประเทศ 1 ล้านคัน แต่ปีนี้ การผลิตเพื่อส่งออกยังคงตัวอยู่ในระดับเดิมที่ 1 ล้านคันได้ ขณะที่ยอดผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง
“เมื่อสองปีก่อนตลาดรถยนต์ในประเทศ ยังอยู่ที่ระดับ 840,000 คัน และปีนี้อาจจะตกลงมาอยู่ที่ระดับไม่ถึง 6 แสนคัน ในส่วนของโตโยต้า ยอดขายก็ลดลงตามขนาดตลาด”
สำหรับยอดการผลิตโดยรวมของโตโยต้าจะลดลง แต่ยอดการส่งออกยังทรงตัว ทำให้บริษัทมียอดการผลิตลดลงเพียง 10 % เท่านั้น ขณะที่ยอดขายในประเทศระดับไม่เกิน 6 แสนคันนี้ ถือว่าต่ำมาก เพราะต้องย้อนไปถึง พ.ศ.2552 หรือ 14-15 ปีก่อน ที่ประเทศไทยเคยขายได้เพียงเท่านี้
อย่างไรก็ตาม ด้วยเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น GDP ในไตรมาสที่ 3 มีการขยายตัว 3% และการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 % ของธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะทำให้สถานการณ์ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นและเราหวังให้รัฐบาลมีมาตรการที่จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ ที่กำลังตกอยู่ในความยากลำบากนี้ด้วย
นายทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์รวมทั้งปีไม่น่าจะถึง 6 แสนคัน เฉพาะตลาดปิกอัพ ไม่ถึง 2 แสนคัน ขณะที่อีซูซุคาดว่าทั้งปีนี้จะไม่ถึง 80,000 คัน ประเมินว่าภาครัฐฯจะมีมาตรการกระตุ้นตลาดออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ารัฐบาลจะไม่ได้ออกมาตรการเพียงแค่นี้ หากแต่กำลังพิจารณาเร่งออกมาตรการณ์อื่น ๆ มาช่วยเหลือตลาดรถปิกอัพเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาตลาดรถปิกอัพหดตัวอย่างรุนแรง และอย่างที่ทราบดีว่าปิกอัพเป็นโปรดักต์แชมเปียนส์ของไทย การผลิตรถปิกอัพใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทยสูงมาก การที่ตลาดปิกอัพหดตัวเร็วเช่นนี้ทำให้กระทบอุตสาหกรรมไทยเป็นอย่างมาก
นายวิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์ใช้แล้วในปี 2567 (ตลาด B2C) ยอดขายอาจลดลงประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันผู้บริโภคหันมาใช้เงินสดมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วคาดว่าจะหดตัวลงราว 5.5-6%
ตลาดรถมือสองสะท้อนสภาพเศรษฐกิจ และจะเห็นว่าสภาพคล่องมีปัญหาขณะที่ EV จีนยังเข้ามากระทบระบบนิเวศยานยนต์ ทำโครงสร้างราคาเสีย บริษัทสินเชื่อไม่รับจัดไฟแนนซ์ EV มือสอง บริษัทประกันก็ไม่รับทำประกัน ทั้งยังกระทบกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายเดิมที่มาลงทุนในไทย ยอดขาย ยอดผลิตลดลง มีผลต่อซัพพลายเชนทั้งระบบ
นายสุธี สมาธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) หรือ AUCT เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทมีรถเข้ามาในลานประมูลประมาณ 2.5 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 2.3 แสนคัน (เพิ่มขึ้น 8.7%) จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนสูง
“ปีนี้บริษัทมีรถใช้แล้วเข้ามาในลานประมูลประมาณ 2.5 แสนคัน ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนของปิกอัพ 60% และปีหน้า 2568 คาดการณ์ว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ ที่ 2.5 แสนคัน ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น NPL ที่ยังทรงตัว หนี้ครัวเรือนที่สูง และการเติบโตของสินเชื่อจำนำทะเบียน”
ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ราคารถ EV สร้างความปั่นป่วนให้กับธุรกิจรถยนต์ทั้งระบบ จากผลกระทบในเชิงโครงสร้างราคา คนชะลอการตัดสินใจซื้อ และความไม่แน่นอนของราคา
สำหรับรถยนต์ใหม่ในปี 2568 คาดว่าจะมีปริมาณใกล้เคียงปีนี้ราว 5.5-5.7 แสนคัน และน่าจะทรงตัวในระดับนี้ต่อเนื่องอีก ประมาณ 1-2 ปี