กลุ่มยานยนต์ เผยลดดอกเบี้ย-GDP ขยายตัว หนุนหนี้ครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น

23 ต.ค. 2567 | 19:31 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2567 | 19:53 น.

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ หวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ -ลดดอกเบี้ย -GDP ขยายตัว ช่วยดันหนี้ครัวเรือนให้ปรับตัวดีขึ้น

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังจากที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยระบุว่า การปรับลดในครั้งนี้ส่งผลดีกับอุตสาหกรรมยานยนต์  

 

นอกจากนั้นแล้วมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐฯด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท และการประเมิน GDP จาก 2.6 % เป็น 2.7 % ซึ่งขยายตัวเล็กน้อย ด้วยปัจจัยเหล่านี้น่าจะช่วยขับเคลื่อนให้ภาพรวมเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัว

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

 

"การลดดอกเบี้ยของกนง.กับอุตฯยานยนต์ ถ้ามองในภาพใหญ่ก็ถือว่าได้ประโยชน์บ้าง ทั้งในส่วนของผู้ผลิต ดีลเลอร์ต่างๆหรือผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี อาจจะขาดทุนน้อยลงเป็นหนี้ลดลง โดยในช่วงไตรมาส 3-4 ประเมินว่าหาก GDP ขยายตัวก็อาจจะส่งผลให้ภาพรวมของหนี้ครัวเรือนลดลง ทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้น คนมีการจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้า มีเงินไหลเข้ามาในระบบ และอาจจะทำให้เกิดการลงทุน มีรายได้เพิ่ม และช่วยดันเศรษฐกิจให้ค่อยๆเติบโต "
 

ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์หรือไม่นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ภาครัฐฯจะมีนโยบายส่งเสริมออกมา มีการปรับลดดอกเบี้ยลง แต่หากสถาบันการเงิน -แบงก์เอกชนยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ก็คาดว่าจะกระทบกับยอดขายรถใหม่ในประเทศต่อไป

 

"ดีมานด์ยังมีอยู่ ลูกค้าต้องการซื้อรถ แต่ว่าแบงก์มีความเข้มงวด ลูกค้ายื่นขอมาแต่ก็ไม่ผ่าน ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังโตในอัตราที่ต่ำ ทำให้แบงก์มีความกังวลใจเกี่ยวกับคุณภาพของผู้ที่กู้ อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูหลังจากการปรับลดดอกเบี้ย ว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนอย่างไร หรือเป็นเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนอย่างไร ก็ต้องรอดูต่อไป"

 

แบงก์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ กระทบยอดขายรถปี 67

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ อาจจะมีการปรับเป้าหมายการขายรถใหม่ภายในประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านั้นได้ปรับลดไปแล้วหนึ่งครั้ง ส่วนเป้าหมายการผลิตเพื่อส่งออกนั้นยังไม่ได้ปรับ แต่ก็ต้องจับตาสถานการณ์สงครามตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิดว่าจะกระทบมากน้อยเพียงใด
 

อนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้ทำการปรับเป้าการผลิตรถยนต์เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายการผลิตไว้ที่ 1,900,000 คันก็ได้ปรับลมาเป็น 1,700,000 คัน ลดลง 200,000 คัน โดยปรับเป้าเฉพาะผลิตขายในประเทศลดลงจาก 750,000 คันเป็น 550,000 คัน


เป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2567

  • ผลิตเพื่อส่งออก 1,150,000 คัน 
  • ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 550,000 คัน 
  • รวม 1,700,000 คัน