ตลาดรถกระบะซึมยาว ยอดขาย 8 เดือนลดฮวบ 39.3 %

28 ก.ย. 2567 | 05:00 น.

เจาะยอดขายตลาดรถกระบะ 8 เดือนแรกปี 2567 ลดลง 39.3 % ค่ายรถอัดโปรโมชันหวังกระตุ้นยอด ด้านส.อ.ท.คาดไตรมาส 4 ตลาดเริ่มฟื้นตัว หลังรัฐเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 2568

ตลาดรถยนต์รวม 8 เดือนที่ผ่านมา(มกราคม -สิงหาคม) ยอดขายยังคงไม่ฟื้นตัว โดยยอดขายรวมของทั้งตลาดทำได้ทั้งสิ้น 399,611 คัน ลดลง 23.9% เฉพาะเดือนสิงหาคมเดือนเดียว ขายได้ 45,190 คัน ลดลง 25% ส่วนแนวโน้มยอดขายของเดือนกันยายน 2567 ก็คาดว่าจะยังทรงตัวและอาจจะลดลงกว่าเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ไฟแนนซ์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อและปัญหาเรื่องน้ำท่วม

 

สำหรับเซกเมนต์ที่ยอดขายลดลงต่อเนื่อง ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาคือกลุ่มรถกระบะ หรือรถปิกอัพ หรือรถเพื่อการพาณิชย์ โดยตัวเลขยอดขายเฉพาะรถกระบะ Pure Pick up ทำได้ทั้งสิ้น 115,051 คัน ลดลง 39.3% ส่วนยอดขายเฉพาะเดือนสิงหาคม 2567 ของกระบะทำได้ 12,303 คัน ลดลง 37.1%     

 

ยอดขายรถกระบะ -ปิคอัพ 8 เดือนปี 2567

 

ยอดขายรถกระบะในประเทศที่ลดลง ส่งผลต่อยอดการผลิตโดยรวมที่ลดลงด้วยเช่นเดียวกัน โดยตัวเลขการผลิตรถกระบะตั้งแต่เดือนมกราคม - สิงหาคม 2567 ทำได้ทั้งสิ้น 616,549 คัน เท่ากับร้อยละ 61.30 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 20.51 % ส่วนยอดผลิตรถกระบะ ในเดือนสิงหาคม 2567 ผลิตได้ทั้งสิ้น 71,973 คัน ลดลง 24.67 
 

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์  ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดขายรถที่ลดลงเป็นผลมาจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการให้สินเชื่อ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูง โดยหนี้เสีย หรือ NPL รถยนต์ ณ ไตรมาสสองของปีนี้ สูงถึง 254,484 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 จากไตรมาสสองปีที่แล้ว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำที่ 2.3 % ในไตรมาสสองของปีนี้ อย่างไรก็ตามคาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้สถานการณ์ต่างๆจะดีขึ้น

 

"ไตรมาสสุดท้ายคาดว่าจะมีเงินเข้ามาในระบบ ทั้งการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท การเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 2568 ที่คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงาน รวมไปถึงการเดินหน้าในโครงการต่างๆ ขณะเดียวกันนโยบายกระตุ้นศรษฐกิจที่รัฐฯได้ประกาศออกมา ก็คาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนให้ภาพรวมเศรษฐกิจ การขายรถในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ดีขึ้น"

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์  ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

ค่ายรถแก้เกมอัดโปรโมชันสู้หวังกระตุ้นยอดขาย

"ฐานเศรษฐกิจ"สำรวจกลยุทธ์ทางการตลาดของค่ายรถยนต์ ที่นำเสนอผ่านแคมเปญโปรโมชันสำหรับรถกระบะ โดยแต่ละค่ายจะมีข้อเสนออะไรบ้าง สามารถตรวจสอบได้ดังต่อไปนี้

โตโยต้า

  • โตโยต้า ไฮลักซ์ แชมป์ รับดอกเบี้ยต่ำสุด 1.55% 
  • โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ รุ่นมาตรฐาน  ผ่อนเริ่มต้น 6,744 บาท พร้อมประกันภัยชั้น 1 พิเศษ สำหรับกลุ่มธุรกิจขนส่งและกระจายสินค้า (Logistics) ลดเพิ่ม 15,000 บาท ขยายเวลารับประกันคุณภาพ 5 ปี

อีซูซุ

  •  อีซูซุ ดีแมคซ์ รุ่น 4 ประตูทุกรุ่น ดอกเบี้ยพิเศษ 0%

ฟอร์ด

  • ฟอร์ด เรนเจอร์ ดอกเบี้ยพิเศษ 0 % หรือ ผ่อนเริ่มต้น 5,299 บาท หรือรับส่วนลด110,000 บาท 

มิตซูบิชิ

  • มิตซูบิชิ ออล-นิว ไทรทัน รับโปรโมชัน มิตซูบิชิช่วยผ่อน 3,000 บาท ต่อเดือน นาน 1 ปี หรือ เลือกรับ ดอกเบี้ยพิเศษ 0.89% นาน 48 เดือน  หรือกรับแพ็กเกจบำรุงรักษา 5 ปี หรือ 100,000 กม. (แล้วแต่ระยะใดถึงก่อน) มูลค่าสูงสุด 25,150 บาท พร้อมบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง 5 ปี มูลค่า 8,950 บาท 

นิสสัน

  • นิสสัน นาวารา ดอกเบี้ยเริ่มต้น 0 % หรือผ่อนนาน 96 เดือน 
  • นิสสัน นาวารา คิงแค็บ  โปรพร้อมลุย ไม่ถึง 19,999 ก็ออกรถได้ หรือ ผ่อนเริ่มต้น 3,299 บาทต่อเดือน ผ่อนนานสูงสุด 84 เดือน

มาสด้า

  • มาสด้า บีที-50 เลือกรับส่วนลดสูงสุด 200,000 บาท ​ หรือ รับดอกเบี้ยต่ำสุด 0% นานสูงสุด 84 เดือน ฟรีประกันภัยชั้น 1​
  • เจ้าของรถมาสด้าและครอบครัว ออกรถใหม่ ฟรี บัตรน้ำมัน มูลค่าสูงสุด 30,000 บาท​​

ค่ายรถอัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายรถกระบะ

 

กรุงศรีคาดปี 68-69 ตลาดกระบะขยายตัว

วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า ผู้ผลิตรถกระบะ 1 ตัน ในปี 2567 ยังคงเผชิญปัจจัยฉุดรั้งจากกำลังซื้อของผู้บริโภครายได้ปานกลาง-ต่ำที่ยังคงเปราะบาง ทำให้สถาบันการเงินยังคงคุมเข้มการอนุมัติสินเชื่อ รวมทั้งผลกระทบของเอลนีโญต่อผลผลิตของเกษตรกรและยอดสั่งซื้อรถกระบะที่ใช้ในการประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตามแนวโน้มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มกระเตื้องขึ้นในปี 2568-2569 น่าจะหนุนความต้องการให้ตลาดรถกระบะมีการขยายตัว


KKP Research เผยอนาคตจีนคู่แข่งไทย ผลิตกระบะส่งออกตลาดต่างประเทศ

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าการเข้ามาของ EV จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ใช่สาเหตุเดียวของการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แต่สาเหตุที่สำคัญกว่า คือ การรุกคืบในการชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ของผู้ประกอบการจากประเทศจีนที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน และมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ซึ่งผลักดันให้ยานยนต์จีนมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวทีโลก 

 

สำหรับ EV เป็นเพียงหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่เร่งแนวโน้มดังกล่าว การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดของอุตสาหกรรมรถยนต์จีนจะสร้างแรงกระเพื่อมมายังเศรษฐกิจและยานยนต์ไทยมากขึ้น โดยผลกระทบต่อตลาดรถยนต์จะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก EV แต่จะขยายวงกว้างไปยังตลาดรถ “ปิกอัพ” ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจยานยนต์ไทยและตลาดส่งออกของไทยอีกด้วย

 

KKP Research ระบุเพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณาโครงสร้างการส่งออกรถยนต์ของจีนไปทั่วโลกจะพบว่า จีนส่งออกทั้ง EV และรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) โดย EV คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 30% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดจากจีนเท่านั้น ในขณะที่อีก 70% ที่เหลือเป็นรถยนต์สันดาปภายในที่มีการส่งออก “ปิกอัพ” รวมอยู่ด้วย 

 

คาดว่าในอนาคตจีนจะเป็นคู่แข่งโดยตรงในตลาดส่งออกปิกอัพสำคัญของยานยนต์ไทย โดยเริ่มที่จะเห็นสัญญาณชัดเจนขึ้นในตลาดออสเตรเลียในปี 2023 ที่ปิกอัพของจีนสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดได้มากถึง 8% ของยอดขายกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ทั้งหมดของออสเตรเลียภายในเวลาเพียง 2-3 ปี ดังนั้น ผลกระทบต่อการส่งออกปิกอัพไทยจึงมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้เร็วแม้ยังไม่มีการเปิดตัวปิกอัพ EV