ไฟแนนซ์เข้ม-หนี้ครัวเรือนพุ่ง กระทบยอดขายรถ ส.ค.67 หล่นวูบ 24.98 %

24 ก.ย. 2567 | 14:16 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2567 | 14:37 น.

ส.อ.ท.เผยยอดผลิตรถส.ค.67 ลดลง 20 % ส่วนยอดขายรถใหม่ หล่นวูบ 24.98 % เหตุจากไฟแนนซ์เข้ม หนี้ครัวเรือนพุ่ง ขณะที่สงครามตะวันออกกลางกระทบตลาดส่งออกไปยุโรป แต่ยังยืนยันไม่ปรับเป้าส่งออก

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2567 โดยในเดือนส.ค.67 พบว่าตัวเลขการผลิตลดลงกว่า 20.56 % ขณะที่ยอดขายในประเทศลดลงเกือบ 25  % เนื่องจากไฟแนนซ์คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตามคาดหวังว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ด้วยการแจกเงิน 10000 บาทจะช่วยฟื้นฟูภาพรวมเศรษฐกิจให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมไปถึงการเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 2568 ในเดือนตุลาคม จะมีผลทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น

 

ส่วนตลาดส่งออกนั้น ลดลงเล็กน้อย อันเป็นผลมาจากสงครามตะวันกลาง ด้านยอดขายในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า มีตัวเลขลดลงเล็กน้อยสำหรับกลุ่ม EV หรือยานยนต์ไฟฟ้า 100 % อย่างไรก็ดีในกลุ่ม HEV หรือไฮบริดนั้น ตัวเลขการขายมีการเติบโต

 

ทั้งนี้สามารถตรวจสอบยอดผลิต ยอดขาย ยอดส่งออกของยานยนต์แต่ละประเภท พร้อมทั้งปัจจัยบวก ปัจจัยเสี่ยงที่จะมากระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เหลือของปีนี้ได้ดังต่อไปนี้ 

 


ยอดผลิตรถยนต์ส.ค.67 ลดฮวบ 20.56 %

จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 2567 มีทั้งสิ้น 119,680 คัน ลดลง 20.56 % ขณะที่ตัวเลขการผลิตตั้งแต่มกราคม - สิงหาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,005,749 คัน ลดลง 17.69 % โดยยอดผลิตที่ลดลงเป็นผลมาจากการขายในประเทศและการส่งออกที่ลดลง 

ยอดผลิตรถยนต์ส.ค.67 ลดฮวบ 20.56 %
 

ไฟแนนซ์เข้ม กระทบยอดขายรถใหม่ เดือนส.ค.67 ลดลง 24 %

จำนวนยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนสิงหาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 45,190 คัน ลดลง 24.98 % ส่วนตัวเลขยอดขายสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม - สิงหาคม 2567 ทำได้ทั้งสิ้น 399,611 คัน ลดลง 23.85 % 

 

ไฟแนนซ์เข้ม กระทบยอดขายรถใหม่ เดือนส.ค.67 ลดลง 24 %

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์  ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่มีผลกับยอดขายรถยนต์ในประเทศ เป็นผลมาจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการให้สินเชื่อ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูง โดยข้อมูลหนี้เสีย (NPL) รถยนต์ ณ ไตรมาสสองของปีนี้ สูงถึง 254,484 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.7 % จากไตรมาสสองปีที่แล้วและเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำที 2.3%  ในไตรมาสสองของปีนี้ 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

อย่างไรก็ตามคาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลใหม่ที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีมีนโยบายหลายข้อที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เช่น การแจกเงินหนี่งหมื่นบาทเป็นเงินสดซึ่งจำนวนเงินกว่าหนึ่งแสนล้านบาท การแก้ใขหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ เป็นต้น รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ก็ทันใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ด้วย และดัชนี ตลาดหลักทรัพย์ก็เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 0.50 และอาจจะลดอีกครั้งในปีนี้


 

สงครามอิสราเอล-ฮามาส การขนส่งล่าช้า กระทบส่งออกลดลง

การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนสิงหาคม 2567 ส่งออกได้ 86,066 คัน ลดลง 1.70 % เนื่องจากปัญหาเรื่องพื้นที่ในการเดินเรือไม่เพียงพอและล่าช้า นอกจากนั้นแล้วปัญหาจากสงครามอิสราเอลกับฮามาสและปัญหาสิ่งสกปรกในท่าเรือที่ติดในรถกระบะที่เตรียมขับขึ้นเรือ ทำให้การผลิตรถกระบะเพื่อส่งออกลดลง 12.92 % และส่งออกลดลงในตลาดออสเตรเลีย แอฟริกา ยุโรป อย่างไรก็ตามในแง่มูลค่าการส่งออกรถยนต์เดือนสิงหาคม 2567 ทำได้ 60,334.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.20 %

 

ขณะที่ตัวเลขการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 ประเทศไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 688,633 คัน ลดลง 4.94 % และเมื่อดูมูลค่าการส่งออกรถยนต์ 8 เดือนที่ผ่านมา ทำได้ 480,206.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  5.0 % 

สงครามอิสราเอล-ฮามาส การขนส่งล่าช้า กระทบส่งออกลดลง

 

นายสุรพงษ์ กล่าวเสริมว่า สงครามอิสราเอล-ฮามาส หรือปัญหาที่เกิดขึ้นที่ตะวันออกกลางกระทบกับการส่งออกไปยุโรป ที่มีตัวเลขลดลง เพราะเส้นทางการเดินเรือ ความล่าช้า เนื่องจากต้องอ้อม รวมไปถึงพื้นที่เรือที่ไม่เพียงพอ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตามกลุ่มยานยนต์ยังคงไม่ปรับเป้าหมายการส่งออก โดยยังคงไว้ที่ 1,150,000 คัน 

 

"เรายังไม่ปรับเป้าหมาย ยังคงไว้ที่ 1,150,000 คัน เพราะประเทศคู่ค้ายังคงดีอยู่ ยังเป็นบวก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะถ้าเหตุการณ์บานปลานก็ดูว่าจะลุกลามกระทบกับเราหรือไม่ ส่วนตลาดอเมริกา ที่จะมีการเลือกตั้งก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับไทย โดยตัวเลขส่งออกเดือนที่แล้วยังถือว่าบวก ยังดีอยู่"

 

ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง EV ลดลง 3.67 % คาดทั้งปีไม่เข้าเป้า 1 แสนคัน 

ยอดจดทะเบียนกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า BEV พบว่า เดือนสิงหาคม 2567 ในกลุ่ม EV ยอดจดทะเบียนลดลง 3 % ส่วนตัวเลขจดทะเบียนสะสมตั้งแต่มกราคม -สิงหาคม 2567 ยังคงเติบโต 17.34 % อย่างไรก็ตามที่เคยมีการประเมินกันว่าปี 2567 ยอดขายรถในกลุ่มนี้อาจจะถึง 1 แสนคันล่าสุดนายสุรพงษ์ กล่าวเสริมว่า อาจจะไม่ถึง โดยประเมินว่ายอดขาย EV ในปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ทำได้ประมาณ 7.6 หมื่นคัน 

 

ทั้งนี้เนื่องจากไฟแนนซ์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ไม่ได้กระทบแต่กับอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่หากไปดูในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็จะพบว่าสถาบันการเงินมีความเข้มงวดเช่นเดียวกัน ส่วนกรณีที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มีข้อเรียกร้องในการยืดระยะเวลาหรือชะลอการผลิตนั้น ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร เพราะถ้าดูตามกรอบระยะเวลาแล้ว ในส่วนของ EV3.0 ก็ระบุไว้ถึงปี 2568 

 

"ตามเงื่อนไขของมาตรการ EV3.0 ยังมีระยะเวลาถึงปี 2568 ก็คงต้องรอดูว่าเมื่อโรงงานต่างๆพร้อมก็คงเร่งผลิตให้ทันปีหน้า ซึ่งหลายๆโรงงานผู้ผลิตใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศด้วย"

 

ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนสิงหาคม 2567

เดือนสิงหาคม 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่จำนวน 8,804 คัน ลดลง 3 % โดยแบ่งออกเป็น

  • รถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ 6,376 คัน ลดลง 3.67 %
  • รถกระบะ รถแวน 233 คัน เพิ่มขึ้น 762.96 %
  • รถจักรยานยนต์ 2,091 คัน ลดลง 12.07 %
  • รถโดยสาร 13 คัน เพิ่มขึ้น 44.44%
  • รถบรรทุก 43 คัน เพิ่มขึ้น 126.32 %

ส่วนตัวเลขสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม - สิงหาคม 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่จำนวน 69,047 คัน เพิ่มขึ้น 17.34 % โดยแบ่งเป็น

  • รถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ 49,642 คัน เพิ่มขึ้น 14.52 %
  • รถกระบะ รถแวน 491 คัน เพิ่มขึ้น 439.56 %
  • รถยนต์สามล้อ 135 คัน ลดลง 42.80 %
  • รถจักรยานยนต์ 18,237 คัน เพิ่ม 30.35 %
  • รถโดยสาร 237 คัน ลดลง 79.12 %
  • รถบรรทุก 305 คัน เพิ่มขึ้น 643.90 %

ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า


 

ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV เดือนสิงหาคม 2567

  • เดือนสิงหาคม 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่ 11,000 คัน เพิ่มขึ้น 54.80 %
  • เดือนมกราคม - สิงหาคม 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่ 94,794 คัน เพิ่มขึ้น 60.14 %

ยอดจดทะเบียนรถไฮบริด

 

 

ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV เดือนสิงหาคม 2567

  • เดือนสิงหาคม 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่ 854 คัน ลดลง 32.70 %
  • เดือนมกราคม - สิงหาคม 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่  6,576 คัน ลดลง 22.80%

ยอดจดทะเบียนรถปลั๊กอิน ไฮบริด