อุตฯยานยนต์ไทย ขอ 3 เดือน รู้ผลกระทบชัดเจน ผลพวงเฟดลดดอกเบี้ย

20 ก.ย. 2567 | 16:14 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2567 | 16:31 น.

"สุรพงษ์" โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.เผยเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% เพื่อกระตุ้นการลงทุนใหม่ในประเทศ ส่วนกระทบกับอุตฯยานยนต์ไทยหรือไม่ต้องรอประเมิน 2-3 เดือนข้างหน้า

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด  (FED) ทำการปรับลดดอกเบี้ย 0.5 % ในเบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินได้ว่ากระทบหรือไม่กระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

 

เบื้องต้นยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงว่าจะกระทบหรือไม่ เนื่องจากประเมินว่าการที่เฟดปรับลดดอกเบี้ย ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ ที่เป็นการลงทุนใหม่ เพราะจะทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ซึ่งหากมีนักลงทุนเข้ามา ภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็จะมีการขับเคลื่อน และปรับตัวดีขึ้น และในระยะต่อไปก็อาจจะส่งผลดีกับตลาดส่งออกของไทยที่อาจจะได้รับอานิสงค์ก็เป็นได้ 

 

"ประเมินว่าการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ อาจจะต้องรอดูอีกสัก 2-3 เดือนว่าจะกระทบหรือไม่กระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ แล้วดูว่าไทยจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยตามไหม แต่เบื้องต้นคิดว่าน่าจะไม่ลด นอกจากนั้่นแล้วก็ต้องดูเรื่องค่าเงินบาท เพราะตอนนี้ถ้าค่าเงินบาทแข็ง และดอลลาร์อ่อน ก็จะกระทบกับการส่งออกของไทย "

หนี้ครัวเรือนสูง ไฟแนนซ์เข้มปล่อยสินเชื่อ ปัจจัยเสี่ยงกระทบยอดขายรถ
 

ส่วนกรณีของการประกาศปรับขึ้นค่าแรง นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ได้รับผลกระทบใด แต่ในกลุ่มที่เป็นเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย หรือชิ้นส่วนรายเล็กๆอาจจะได้รับผลกระทบ 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์  ส.อ.ท.

ขณะที่สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในขณะนี้ ความต้องการซื้อรถ หรือ ดีมานด์ยังมี แต่ความเข้มงวดของสถาบันการเงินหรือไฟแนนซ์ยังคงมีอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ประกอบกับเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว ส่วนเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในตอนนี้ ก็ต้องประเมินว่าจะนานขนาดไหน เพราะจะกระทบกับสินค้าเกษตรที่ได้รับความเสียหาย รวมไปถึงกำลังซื้อของประชาชน

 

"สถานการณ์ในตอนนี้ ไฟแนนซ์ยังเข้มงวด เพราะหนี้เสียมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามคาดหวังว่าเงินงบประมาณปี 2568 ของรัฐที่จะเริ่มมีการใช้จ่ายตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้จะช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย มีเงินเข้ามาในระบบ รวมไปถึงนโยบายเร่งด่วนอย่างการปรับโครงสร้างหนี้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เหลือของปีนี้ให้ดีขึ้น"

หนี้ครัวเรือนสูง ไฟแนนซ์เข้มปล่อยสินเชื่อ ปัจจัยเสี่ยงกระทบยอดขายรถ