เปิด 10 อันดับยี่ห้อรถที่ขายดีสุดในครึ่งปีแรก เช็คเลยมีแบรนด์ไหนบ้าง

05 ส.ค. 2567 | 20:07 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2567 | 20:08 น.

เจาะยอดขายรถยนต์ครึ่งปี แบรนด์ใดยี่ห้อไหนขายดีสุด 10 อันดับแรกพร้อมส่องภาพรวมตลาดหลังปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ค่ายรถ-ส.อ.ท.ปรับเป้ายอดขาย-ยอดผลิต

ภาพรวมตลาดรถยนต์ในไทยครึ่งปีแรก (มกราคม - มิถุนายน 2567) ยังคงซบเซา โดยยอดขายรถรวมมีจำนวนทั้งสิ้น 308,027 คัน ลดลง 24.2% ในส่วนของเซกเมนต์รถยนต์นั่ง มียอดขาย 119,326 คัน ลดลง 19.4% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ มียอดขาย188,701 คัน ลดลง 26.9% และตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน มียอดขาย 108,437 คัน ลดลงกว่า  40.7%

 

อย่างไรก็ตามในกลุ่มตลาด xEV มียอดขายทั้งหมด 108,720 คัน คิดเป็นสัดส่วน 35.3% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด เติบโตขึ้น 35.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ HEV เติบโตขึ้น 68.7% ด้วยยอดขาย 67,346 คัน ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ BEV อยู่ที่ 36,593 คัน เติบโตขึ้น 9.4 %
 

เมื่อมาดูยอดขายของแต่ละแบรนด์แต่ละยี่ห้อในช่วงครึ่งปีแรก พบว่า 10 อันดับแรกยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยโตโยต้า อีซูซุ ฮอนด้า ยังคงรั้ง 3 อันดับแรกไว้อย่างเหนียวแน่น ส่วนอันดับ 4 ตกเป็นของบีวายดี แบรนด์จากจีนที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV เป็นตัวขับเคลื่อนยอดขาย ด้านอันดับ 5 เป็นของมิตซูบิชิ


ยี่ห้อรถยนต์ที่ขายดี 10 อันดับแรกในไทย มกราคม -มิถุนายน 2567

  1. โตโยต้า    116,278 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 37.7 %        
  2. อีซูซุ        46,260 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 15.0  %     
  3. ฮอนด้า     43,499 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 14.1 %     
  4. บีวายดี     14,735 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 4.8 %   
  5. มิตซูบิชิ    14,498 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 4.7 %     
  6. ฟอร์ด       11,307 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 3.7 %     
  7. เอ็มจี        8,896 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด   2.9 %           
  8. นิสสัน      5,487 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 1.8 %     
  9. มาสด้า     5,123 คัน  ครองส่วนแบ่งการตลาด 1.7 %     
  10. เกรท วอลล์ มอเตอร์ 4,058 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 1.3 %  

เปิด 10 อันดับยี่ห้อรถที่ขายดีสุดในครึ่งปีแรก

 

ยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลง เป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว หนี้ครัวเรือนที่ยังสูง และรายได้ครัวเรือนต่ำเพราะเศรษฐกิจโตช้า ขณะเดียวกันสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ด้วยปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายรวมไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มีการปรับเป้าหมายการขาย เป้าหมายการผลิตรถยนต์ในประเทศ

ส.อ.ท.หั่นเป้ายอดผลิตรถปี 67 เหลือ 1.7 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ทำการปรับเป้าผลิตรถยนต์ปี 2567 จาก 1,900,000 คันเป็น 1,700,000 คัน ลดลง 200,000 คัน โดยปรับเป้าเฉพาะผลิตขายในประเทศลดลงจาก 750,000 คันเป็น 550,000 คัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

โตโยต้า คาดภาพรวมเศรษฐกิจ-ดัชนีความเชื่อมั่นยังฟื้นตัวช้า

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม มีแนวโน้มจะทรงตัว หรือลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงฟื้นตัวช้า

 

สำหรับโตโยต้าในครึ่งปีแรก มียอดขายรถยนต์รวมที่ 116,278 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 37.7%  ในส่วนของตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน  (Pure Pick up + รถกระบะดัดแปลง PPV)  มียอดขายรวมอยู่ที่ 49,689 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์เซกเมนต์นี้ 45.8% ขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งอยู่ที่ 33,264 คัน คิดเป็นส่วนแบ่ง 27.9% 

โตโยต้า คาดภาพรวมเศรษฐกิจ-ดัชนีความเชื่อมั่นยังฟื้นตัวช้า

เมื่อมาดูยอดขายในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า โตโยต้ามียอดขายรถยนต์ไฮบริด 30,714 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 28.3% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ในกลุ่มตลาด xEV ทั้งหมด