พี่ใหญ่แห่งวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ "โตโยต้า"ออกมาประเมินสถานการณ์ของตลาดรถยนต์ในปี 2567 ว่าจะไปในทิศทางไหน มีปัจจัยใดที่มีผลกับตลาด พร้อมทั้งเผยเป้าหมายยอดขาย การเติบโต และส่วนแบ่งตลาด รวมไปถึงเป้าหมายในการผลิตและส่งออก ซึ่งโตโยต้าในปีมังกรทองนี้จะทำยอดขายได้กี่คัน ตรวจสอบข้อมูลได้เลยที่นี่
โตโยต้า เผยแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2567 คาดว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆกับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด โดยคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2567 จะอยู่ที่ 800,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเมื่อแบ่งออกเป็นเซกเมนต์ ในกลุ่มรถยนต์นั่งจะมียอดขายรวม 296,500 คัน เพิ่มขึ้น 1 % และรถเพื่อการพาณิชย์ มียอดขายรวม 503,500 คัน เพิ่มขึ้น 4 %
สำหรับปัจจัยรอบด้านที่จะมีผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทั้งที่เป็นปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา เฝ้าระวังมีดังนี้
ในปี 2567 โตโยต้า ตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 277,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.6% ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปี 2567 จะอยู่ที่ 358,800 คัน หรือลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และได้ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของปี 2567 อยู่ที่ราว 615,700 คัน หรือลดลง 0.9% จากปีที่ผ่านมา
สำหรับเป้าหมายการส่งออกที่ลดลง เป็นผลมาจากการเผชิญกับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ตลอดจนภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัว
ขณะที่ยอดขายของโตโยต้า ในปีที่ผ่านมา ทำได้ 265,949 คัน หรือลดลง 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามโตโยต้ายังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 34.3% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ส่วนรถยนต์ภายใต้แบรนด์โตโยต้า ในปี 2566 ที่ผ่านมา แบรนด์เลกซัส ประเทศไทย มียอดขายสูงสุด อยู่ที่ 1,012 คัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ เลกซัส ประเทศไทย ทำยอดขายได้สูงสุดถึงระดับกว่า 1,000 คัน
ตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ในปี 2566 มีตัวเลขยอดรวมอยู่ที่ 775,780 คัน หรือลดลง 9% เมื่อเทียบกับปี 2565 สำหรับยอดขายที่ลดลงเป็นผลมาจากภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว โดยตลาดภายในประเทศมีทิศทางที่ชะลอตัว ในขณะที่ภาคการส่งออกโดยรวมมีการขยายตัวที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ มีปัจจัยหลากหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดในปีที่ผ่านมา ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กำลังซื้อที่ชะลอตัวลงจากหนี้ครัวเรือนสูง ตลอดจนการชะลอซื้อรถยนต์ของภาคธุรกิจเพื่อรอความชัดเจนจากมาตรการรัฐซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา ยังมีปัจจัยด้านบวกอื่นๆ ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม อาทิ สัดส่วนการขายของตลาดรถยนต์นั่งในประเทศที่ขยายตัวได้ดี โดยได้กระแสความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้อานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนด้านราคาของภาครัฐ ตลอดจนตัวเลขการส่งออกรถยนต์ของไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกในช่วงที่ผ่านมา เพื่อชดเชยการส่งมอบรถที่ล่าช้าจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญจนทำให้การผลิตล่าช้าออกไปในปีก่อนหน้านี้