ไดฮัทสุ มอเตอร์ โค บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ที่เผชิญกับเรื่องอื้อฉาวด้านความปลอดภัยเปิดเผยวานนี้ (17 ม.ค.) ว่า บริษัทกำลังพิจารณา เรียกคืนรถยนต์ ขนาดเล็ก 2 รุ่นที่ตรวจพบว่า ระบบประตูมีความบกพร่อง ซึ่งการเรียกคืนดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อรถยนต์ราว 320,000 คัน
ประกาศนี้ มีขึ้นในเวลาเพียงหนึ่งวัน หลังจากที่กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นมีคำสั่งให้ไดฮัทสุพิจารณาเรียกคืนรถยนต์รุ่นแคสต์ (Cast) ที่วางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ไดฮัทสุ และรุ่นพิกซิส จอย (Pixis Joy) ที่วางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของบริษัทแม่อย่างโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ภายหลังจากที่มีการเปิดเผยว่า บริษัทได้ปลอมแปลงผลการทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์เกือบทุกรุ่น
ทั้งนี้ ไดฮัทสุเปิดเผยเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ว่า รถยนต์รุ่นต่าง ๆ อาจไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยเนื่องจากประตูรถยนต์อาจล็อกและเปิดได้ยากจากภายนอกในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุ
หากการเรียกคืนดำเนินต่อไป จะกลายเป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่สร้างความเสียหายแก่บริษัทซึ่งถูกบังคับให้ระงับการจัดส่งรถยนต์ทุกชนิดทั้งในและต่างประเทศเมื่อเดือนที่แล้วจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการตรวจสอบความปลอดภัย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นได้บุกเข้าค้นสำนักงานใหญ่ของไดฮัทสุในจังหวัดโอซาก้าเมื่อช่วงกลางเดือนธ.ค. หลังจากที่ไดฮัทสุยอมรับว่า ได้ปลอมแปลงผลการทดสอบความปลอดภัย ย้อนหลังไปถึงปี 2532 โดยเรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเม.ย. 2566 หลังองค์กรอิสระได้ตรวจสอบไดฮัทสุและปัญหาต่าง ๆ 174 รายการในรถยนต์ทั้งหมดจำนวน 64 รุ่น รวมถึงบางรุ่นที่วางจำหน่ายภายใต้แบรนด์โตโยต้าด้วย
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ไดฮัทสุประกาศจะยุติการจัดส่งสินค้า และระงับการดำเนินการในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดจนถึงเดือนมกราคม 2567 นี้ในระหว่างที่บริษัทพยายามแก้ไขปัญหาจากผลการตรวจสอบด้านความปลอดภัยซึ่งแสดงให้เห็นว่ารถยนต์จำนวนมากของบริษัท ไม่ได้รับการทดสอบอย่างเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่ารถยนต์เหล่านั้นมีความปลอดภัยจากการชน
ทั้งนี้ ไดฮัทสุเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก ในเครือบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น
โฆษกของไดฮัทสุแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในช่วงเวลานั้นว่า บริษัทให้คำมั่นว่าจะจ่ายเงินชดเชยโดยตรงให้กับบริษัทต่าง ๆจำนวน 423 ราย ที่ได้รับสินค้าไปจากไดฮัทสุ เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อรถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่นและในต่างประเทศ และไม่เพียงแต่โรงงานของโตโยต้าซึ่งเป็นบริษัทแม่ของไดฮัทสุเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และซูบารุ คอร์ป ก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เนื่องจากไดฮัทสุเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนและเป็นผู้ให้บริการการผลิตให้กับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆในญี่ปุ่น โดยไดฮัทสุส่งมอบชิ้นส่วนแก่บริษัทต่าง ๆ มากกว่า 4,000 บริษัท