วิธีลงทะเบียนระบบ K-ETA ไปเที่ยวเกาหลีใต้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ปี 2566

16 มิ.ย. 2566 | 03:57 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2566 | 08:54 น.
22.0 k

ตรวจสอบขั้นตอนการลงทะเบียนระบบ K-ETA ทางเว็บไซต์ www.k-eta.go.kr ไปเที่ยวเกาหลีใต้ โดยไม่ต้องขอวีซ่าได้ถึง 90 วัน อัพเดตล่าสุดปี 2566

 

การลงทะเบียนทาง เว็บไซต์ www.k-eta.go.kr เพื่อ ไปเที่ยวเกาหลีใต้ ผ่าน ระบบ K-ETA (Electronic Travel Authorization) ต้องทำยังไง เป็นคำถามยอดฮิตของคนไทยที่ต้องการไปเที่ยวและเยี่ยมเยือนดินแดนกิมจิอย่างถูกกฎหมายได้ถึง 90 วันโดย “ไม่ต้องขอวีซ่า”

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 112 ประเทศที่รัฐบาลเกาหลีใต้เปิดโอกาสให้เดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า (หรือได้รับการยกเว้นวีซ่านั่นเอง) แต่ต้องลงทะเบียนและได้รับการอนุมัติ K-ETA หรือ Korea Electronic Travel Authorization ทางออนไลน์มาล่วงหน้า 72 ชั่วโมงก่อนโดยสารเครื่องบินหรือเรือมายังประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งขั้นตอนการลงทะเบียนดังกล่าวไม่ยุ่งยาก รู้ผลเร็ว เพียงขอให้กรอกข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง และชำระเงินเรียบร้อย

ระบบนี้ นอกจากจะอำนวยความสะดวกสบายให้เราไม่ต้องไปต่อแถวทำวีซ่าให้เสียเวลาแล้ว ทางกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ยังคิดค้นระบบ K-ETA ขึ้นมา เพื่อคัดกรองคนที่อาจลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ (หรือที่สื่อเรียกว่าพวก “ผีน้อย”) อีกด้วย เพราะเดี๋ยวนี้หากใครตามข่าวก็คงทราบว่ามีชาวต่างชาติ รวมถึงคนไทย ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศเกาหลีใต้กันเยอะมาก เชื่อว่าระบบนี้จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

นอกจากนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องกักตัว ไม่ต้องทำการทดสอบ RT-PCR ภายใน 24 ชั่วโมง หรือตรวจโควิดเมื่อไปถึงที่สนามบินของเกาหลีใต้อีกต่อไป ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

เรามาดูกันว่า ในปี 2566 นี้ การลงทะเบียนผ่านระบบ K-ETA ทางเว็บไซต์ของทางการที่ชื่อว่า www.k-eta.go.kr เพื่อเข้าประเทศเกาหลีใต้ (ซึ่งรวมทั้งการบินตรงเข้าทางเกาะเชจู แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของเกาหลี) มีขั้นตอนอย่างไร และต้องใช้อะไรบ้าง

เอกสารที่ต้องใช้และขั้นตอนการลงทะเบียน K-ETA

เอกสารที่ต้องใช้ลงทะเบียน K-ETA

  • หนังสือเดินทาง หรือ พาสปอร์ต ที่ยังไม่หมดอายุ สแกนด้วยสกุลไฟล์ .jpeg 
  • รูปถ่ายหน้าตรง ซึ่งควรเป็นหน้าตรง แนวตั้ง เห็นหน้าชัดเจน ไม่สวมหมวก แว่นตา หรือผ้าพันคอ ขนาด 700*700 ไฟล์ภาพขนาดไม่เกิน 20MB 
  • ข้อมูลที่พักในเกาหลีอย่างชัดเจน หมายความว่าเราต้องทำการจองที่พักก่อน เพื่อให้ได้ “ที่อยู่” ในการไปพำนักอย่างชัดเจน ขณะที่หลักฐานการจองตั๋วเครื่องบินไม่ต้องใช้ จึงแนะนำให้จองหลังจากที่ได้รับการอนุมัติ K-ETA แล้ว
  • บัตรเครดิต หรือ บัตรเดบิต สำหรับหักค่าลงทะเบียน 10,300 วอน (รวมค่าธรรมเนียมบัตร 3%) อัตราแลกเปลี่ยนเงินวอน คลิกที่นี่

ขั้นตอนการลงทะเบียน K-ETA

  • เข้าสมัครในเว็บไซต์ www.k-eta.go.kr หรือแอปพลิเคชัน K-ETA ทั้งระบบ iOS และ แอนดรอยด์
  • กรอกอีเมลของผู้สมัคร สำหรับใช้รับผลการอนุมัติ
  • กรอกข้อมูลหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) พร้อมอัปโหลดภาพหน้าหนังสือเดินทาง
  • กรอกข้อมูลส่วนตัวพร้อมแผนการเดินทางอย่างละเอียด เช่น อาชีพ, ชื่อบริษัท, ที่อยู่บริษัท, รายได้ต่อปี, วัตถุประสงค์ในการเดินทาง, ข้อมูลที่พักในเกาหลีใต้, หมายเลขติดต่อที่พัก และวันที่ออกเดินทาง การกรอกข้อมูลต่าง ๆ ควรกรอกอย่างละเอียดและให้ตรงตามความเป็นจริงเพราะจะมีผลในการพิจารณา
  • จากนั้น แนบรูปถ่ายหน้าตรง
  • ชำระค่าธรรมเนียม 10,000 วอน (KRW) หรือประมาณ 270 บาทต่อผู้สมัคร 1 คน โดยสามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตได้เลย ทั้งนี้ มีค่าธรรมเนียมในการชำระผ่านออนไลน์เพิ่มเติม(ค่าธรรมเนียมบัตร 3%) และเมื่อชำระเงินแล้วเท่ากับเป็นการยืนยันว่าเราสมัคร K-ETA แล้วเรียบร้อย จะไม่สามารถขอเงินคืนได้ในทุกกรณี
  • รอผลการตรวจสอบข้อมูลของเรา เพื่อเช็กเปอร์เซ็นต์ว่าเราไม่เป็นผีน้อยแน่นอน
  • ตรวจสอบผลการสมัคร K-ETA ผ่านทางอีเมล

โดยสรุป

  • เราต้องสมัครและได้รับอนุมัติ K-ETA ก่อนเดินทางไปยังเกาหลีใต้ 72 ชั่วโมง ซึ่งเราจะสามารถจองตั๋วเครื่องบิน(หรือเรือ)ไปเกาหลีใต้ได้ ก็ต่อเมื่อเราได้รับ K-ETA แล้ว
  • ค่าธรรมเนียมในการขอคือ 10,000 วอน หรือราว 270 บาท หลังจากได้รับการอนุมัติแล้ว K-ETA ที่ได้รับมานั้นจะมีผลบังคับใช้ 2 ปีนับตั้งแต่ได้รับอนุมัติ ซึ่งเราจะไม่ต้องไปกรอกใบขาเข้าที่ประเทศเกาหลีใต้ซ้ำอีก และสำหรับคนไทยเมื่อได้รับ K-ETA แล้ว จะสามารถพำนักในเกาหลีใต้ได้ไม่เกิน 90 วัน 
  • อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องย้ำกันว่า การได้รับ K-ETA ไม่ได้หมายความว่า เราจะเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้แบบผ่านฉลุย เพราะยังมี “ด่านสุดท้าย” ที่ต้องเจอ นั่นคือด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินของเกาหลีใต้อยู่ดี ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้เราเข้าประเทศได้หรือไม่ (ดังเคยมีข่าวแม้แต่ศิลปินดาราคนดังของไทย ก็ยังถูกตม.เกาหลีใต้ปฏิเสธ หรือเรียกสัมภาษณ์เพิ่มเติมมาแล้ว)
  • กรณีไม่ได้รับการอนุมัติ K-ETA มาตั้งแต่แรก เช่น ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน หรือมีเหตุผลไม่ชัดเจน เราสามารถยื่นขอใหม่ได้ หรือกลับไปใช้การขอวีซ่าแบบปกติแทนได้

รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการลงทะเบียน K-ETA

1) ถ้าได้รับอนุมัติ K-ETA แล้ว แต่มาเห็นภายหลังว่ากรอกข้อมูลผิดพลาด จะเดินทางเข้าประเทศได้หรือไม่

ท่านอาจเสียประโยชน์ เช่น อาจถูกปฏิเสธการเข้าประเทศได้ ดังนั้น ถ้าพบข้อมูลผิดพลาด(หลังได้รับอนุมัติ K-ETA แล้ว) ควรลงทะเบียน K-ETA ใหม่อีกครั้ง แต่หากกรอกข้อมูลผิดพลาดขณะลงทะเบียน ท่านสามารถแก้ไขได้ก่อนการลงทะเบียนเสร็จสิ้น ทั้งนี้ การกรอก "ข้อมูลเท็จ" อาจมีผลให้ไม่ได้รับการอนุมัติ K-ETA และแม้ได้รับอนุมัติไปแล้ว แต่มีการตรวจพบข้อมูลเท็จภายหลัง ก็สามารถถูกยกเลิกได้ และอาจได้รับโทษทางกฎหมายรวมถึงการถูกจำกัดการเข้าประเทศเกาหลีใต้ในอนาคต

2) ใช้เวลานานแค่ไหน ในการลงทะเบียน K-ETA และจะทราบผลการพิจารณาเมื่อไหร่

ใช้เวลาลงทะเบียนประมาณ 10 นาที ส่วนผลการพิจารณา โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 72 ชั่วโมงหรือบางกรณีอาจจะมากกว่านั้น 

3) ไฟล์รูปถ่ายหน้าตรงที่ใช้ในการลงทะเบียน K-ETA ต้องเหมือนกับรูปถ่ายในหนังสือเดินทางหรือไม่

ไม่จำเป็นเสมอไป แต่ต้องตรงตามเงื่อนไขดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

4) ถ้าได้รับอนุมัติ K-ETA แล้ว สามารถทำงานในเกาหลีใต้ได้หรือไม่

ไม่ได้ K-ETA ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมเพื่อหาผลประโยชน์ในเกาหลีใต้ ท่านจำเป็นต้องได้รับวีซ่าที่สามารถทำงานในเกาหลีใต้ได้เท่านั้น 

5) ต้องใช้ภาษาอะไรในการกรอกข้อมูลลงทะเบียน K-ETA

ภาษาอังกฤษเท่านั้น 

6) ต้องลงทะเบียนเพื่อรับอนุมัติ K-ETA ใหม่ทุกครั้งที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้หรือไม่

ไม่จำเป็น เพราะเมื่อได้รับอนุมัติ K-ETA แล้วจะสามารถใช้ได้ถึง 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับการอนุมัติ แต่ในกรณีที่วันหมดอายุของหนังสือเดินทางที่ใช้ในการขออนุมิติ K-ETA เหลือไม่ถึง 2 ปี K-ETA จะมีผลบังคับใช้ถึงวันที่หมดอายุของหนังสือเดินทางเท่านั้น  

สามารถดูคำถามอื่นๆ เพิ่มเติมได้โดย คลิกที่นี่