The Ocean Cleanup ส่งนวัตกรรม Interceptor ดักจับขยะบนผิวน้ำ ก่อนไหลสู่ทะเล

10 เม.ย. 2565 | 07:53 น.
683

ถึงเวลา ผนึกกำลังคืนชีวิตให้แม่น้ำเจ้าพระยา โคคา-โคล่า และ The Ocean Cleanup พร้อมพันธมิตร นำนวัตกรรมรักษ์โลก เรือ Interceptor™ ดักจับขยะบนผิวน้ำ ลดการรั่วไหลสู่ทะเล

เดอะโคคา-โคล่า คัมปะนี จับมือกับ The Ocean Cleanup ร่วมทำงานในโครงการทำความสะอาดแม่น้ำ ด้วยการติดตั้งนวัตกรรมเครื่อง Interceptor เครื่องทำความสะอาดแม่น้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ในแม่น้ำ 15 แห่งทั่วโลก ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2565 ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยา คือหนึ่งในแม่น้ำที่ได้รับความร่วมมือในครั้งนี้

 

โดยล่าสุด “โบแยน สแลต” ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanup และ อีโคมารีน บริษัทลูกของบริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามความร่วมมือในการปฏิบัติงานด้านเทคนิค เพื่อช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางน้ำ และร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน  

“โบเยน” กล่าวว่า ภารกิจของ The Ocean Cleanup คือการกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ไม่เพียงแต่จะกำจัดขยะที่อยู่ในมหาสมุทรเท่านั้น แต่ต้องหยุดการรั่วไหลของขยะเกิดใหม่ในแม่น้ำไม่ให้ไหลสู่มหาสมุทรด้วย  โดยผ่านการทำงานกับภาครัฐ ประชาชน และเอกชน เพื่อแก้ปัญหามลพิษจากขยะในแม่น้ำ 1,000 สายทั่วโลก

 

โดยประเทศไทยที่กำหนดว่าจะลดขยะพลาสติกในทะเลลง 50% ภายในปี พ.ศ. 2570 ด้วยการติดตั้งเครื่อง Interceptor™ รุ่นแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าเรือ Interceptor™ จะสามารถเริ่มดำเนินการในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงบริเวณใกล้กับคลองลัดโพธิ์ ในพื้นที่อำเภอบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่เริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับขยะมากขึ้น ซึ่งผมมองว่ามาถูกทางแล้ว The Ocean Cleanup ก็พร้อมจะเป็นพาร์ทเนอร์พัฒนาแนวทางกำจัดขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาให้หมดไป” 
    

“นันทิวัต ธรรมหทัย” ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์การสื่อสารและความยั่งยืน บริษัทโคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า งานหลักของมูลนิธิฯ คือพยายามสร้างพันธมิตรมาซัพพอร์ต เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นได้และประสบความสำเร็จในระยะยาว ภารกิจ

 

ขณะนี้ เรามีโครงการที่ส่งเสริมเรื่องรีไซเคิลอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกับผู้บริโภค หรือว่าการทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ นำวัสดุที่ใช้แล้วไปรีไซเคิล สำหรับโครงการนี้คือ ต้องดูว่าขยะที่ถูกเก็บขึ้นมาจากแม่น้ำเจาพระยาแล้วจะมีวิธีการจัดการอย่างไร ส่วนที่รีไซเคิลได้ก็จะส่งต่อ แต่ที่รีไซเคิลไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีจัดการ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม 
    

ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ในส่วนของงานวิจัยในโปรเจ็กต์นี้ ตั้งเป้าว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยเซอร์เวย์ จะมีการตรวจสอบการแพร่กระจายหรือพฤติกรรมของขยะเมื่อไหลลงสู่ทะเลและจะมีการศึกษาวิจัยเรื่องไมโครพลาสติกซึ่งเป็นสารอันตรายที่จะส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตมนุษย์ ซึ่งมีการขับเคลื่อนมาระยะหนึ่งแล้ว 
    

ตอนนี้มีชุมชนชายฝั่งที่ทำงานร่วมกว่า 20,000 คน โดยต้องพยายามดำเนินหลายๆ เรื่องควบคู่กันไป ส่วนที่โฟกัสมากที่สุดก็คือต้องสร้างความเข้าใจเรื่องการทิ้งขยะแก่ประชาชน ทำอย่างไรไม่ให้คนทิ้งขยะลงแม่น้ำ

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,772 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2565