โคคา-โคล่า กับภารกิจสกัดขยะ จากคลองลาดพร้าว สู่มหาสมุทร

15 ม.ค. 2565 | 09:03 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2565 | 16:12 น.

ในฐานะที่โคคา-โคล่า เดินหน้าโครงการเกี่ยวกับขยะมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเรียนรู้จากโครงการต่างๆ ไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาขยะ ที่จัดทำขึ้น เช่น โครงการรักษ์น้ำ สิ่งที่ได้กลับมาชัดเจน คือ ถ้าโครงการจะยั่งยืนได้ โครงการนั้นต้องตอบโจทย์ และถูกขับเคลื่อนโดยชุมชน

นั่นคือ การเรียนรู้ที่ มูลนิธิโคคา-โคล่า องค์กรสาธารณกุศลภายใต้ เดอะ โคคา-โคล่า คัมปะนี ได้นำมาต่อยอดใช้กับโครงการอื่น อาทิ “โครงการติดตั้งเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าว” ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 โดยการจับมือกับ มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย กับภารกิจป้องกันขยะรั่วไหลจากแม่น้ำสู่มหาสมุทร

โคคา-โคล่า กับภารกิจสกัดขยะ  จากคลองลาดพร้าว สู่มหาสมุทร

ซึ่งโคคา-โคล่า ยังได้ส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุมชน ไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหา โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นขึ้นในเดือนมิถุนายน 2563
 

 

“นันทิวัต ธรรมหทัย” เลขานุการมูลนิธิโคคา-โคล่า ประเทศไทย กล่าวว่า คลองลาดพร้าว มีระยะทางยาว 12.56 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างคลองแสนแสบและคลองสอง และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา การติดตั้งเครื่องดักขยะ 2 เครื่อง

โคคา-โคล่า กับภารกิจสกัดขยะ  จากคลองลาดพร้าว สู่มหาสมุทร

เพื่อดักจับขยะในคลองลาดพร้าว ร่วมกับการปฏิบัติงานของทีมงานเก็บขยะ ซึ่งเป็นคนในท้องที่ 5 วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่มิถุนายน 2563 จนถึงมิถุนายน 2564 สามารถเก็บขยะจากเครื่องดักขยะทั้ง 2 เครื่อง ได้มากกว่า 145 ตัน และอีกกว่า 63 ตันจากการเก็บขยะตามลำคลอง

ขยะทั้งหมดที่เก็บได้ มีประมาณ 16.4% ที่รีไซเคิลได้ โดยขยะรีไซเคิลเหล่านี้แบ่งเป็นขยะพลาสติก 8.4% แก้ว 7.1% และโลหะ 0.9% ทางมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ทำงานร่วมกับบริษัทบริหารจัดการขยะในพื้นที่ เพื่อจัดส่งขยะรีไซเคิลไปยังผู้ผลิต เพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นสิ่งของที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น

โคคา-โคล่า กับภารกิจสกัดขยะ  จากคลองลาดพร้าว สู่มหาสมุทร

สนามเด็กเล่นในชุมชน บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค รวมไปถึง จานร่อน และกำไลลูกปัด ที่มีวางจำหน่ายแล้วในสหรัฐฯ โดยรายได้ทั้งหมด ยังถูกส่งกลับมาเป็นเงินสนับสนุนการปฏิบัติงานในโครงการคลองลาดพร้าวต่อไป ซึ่งสินค้าที่ขายได้แต่ละชิ้นนั้นจะเป็นเงินทุนในการเก็บและรีไซเคิลขยะจำนวน 9 กิโลกรัม
  โคคา-โคล่า กับภารกิจสกัดขยะ  จากคลองลาดพร้าว สู่มหาสมุทร

โครงการนี้ ได้สร้างความตระหนักรู้แก่ชุมชน ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดการขยะอย่างเหมาะสม ให้แก่ชาวชุมชนคลองลาดพร้าวกว่า 7,000 ครัวเรือน และยังสร้างอาชีพให้กับชาวชุมชนอีก 15 คน ที่มาร่วมทีมปฏิบัติงาน
 

โครงการติดตั้งเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าว เป็นหนึ่งในโครงการทำความสะอาดแม่น้ำ 9 แห่งทั่วโลก ภายใต้การเป็นพันธมิตรร่วมกันระหว่างโครงการ Benioff Ocean Initiative ของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา และมูลนิธิโคคา-โคล่า ซึ่งมีเงินสนับสนุนเป็นระยะเวลา 3 ปี รวม 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 345 ล้านบาท 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,748 วันที่ 13 - 15 มกราคม พ.ศ. 2565