เปิดวิชัน CEO หญิง ‘MASTER’ ปักธงเบอร์ 1 ด้านศัลยกรรม พิชิต 8,000 ล้าน

05 ธ.ค. 2567 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2567 | 10:21 น.

เปิดวิชัน “ลภัสรดา เลิศภานุโรจ” CEO ‘MASTER’ กับกลยุทธ์การบริหารคนด้วยความเท่าเทียม นำทัพพาร์ทเนอร์ 15 บริษัท สู่เบอร์ 1 ด้านธุรกิจศัยลกรรมและความงามของไทย ตั้งเป้าชาเลนจ์รายได้ 8,000 ล้าน ภายใน 2 ปี

แนวโน้มธุรกิจศัลยกรรมและความงามยังคงมีการเติบโตสูง ซึ่งผู้นำตลาดเบอร์ใหญ่ในไทยอย่าง ‘MASTER’ ตั้งเป้าขยายกลุ่มลูกค้าต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์การบริหารงานของ CEO หญิง “ลภัสรดา เลิศภานุโรจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ผู้บริหาร โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช Specialty Hospital จนประสบความสำเร็จก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 นับตั้งแต่นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดาว-ลภัสรดา” ถึงทิศทางธุรกิจและโอกาสของ MASTER ในอนาคตที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด พร้อมความท้าทายท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน

ลภัสรดา” เล่าให้ฟังว่า โดยพื้นฐานส่วนตัวเรียนจบปริญญาตรีทางด้านบัญชีและจบปริญญาโททางด้านการบริหาร เป็นคนชอบการแข่งขัน ชอบในเรื่องความสำเร็จ ชอบการเป็นที่หนึ่ง เคยทำงานอาชีพ Consultant พาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 20 บริษัท กระทั่งได้มารู้จักกับ “หมอเส-นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล” Group CEO MASTER ในปัจจุบัน ที่ได้ชักชวนเข้ามาร่วมงาน โดยมีเป้าหมายนำ MASTER เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเช่นเดียวกันกับบริษัทอื่น

เปิดวิชัน CEO หญิง ‘MASTER’ ปักธงเบอร์ 1 ด้านศัลยกรรม พิชิต 8,000 ล้าน

“ตอนนั้นสายอาชีพ Consultant เราได้ชาเลนจ์ตัวเองจนไม่มีอะไรให้ทำแล้ว จึงอยากมองหาเป้าหมายใหม่บ้าง และการเข้ามาร่วมงานกับบมาสเตอร์ถือว่าเป็นอะไรที่ท้าทายและอยากทำมาก เพราะหากสามารถพามาสเตอร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ มาสเตอร์จะเป็นโรงพยาบาลศัลยกรรมรายแรกที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งยังไม่เคยมีก่อน และหลังจากสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ 1 ปี คุณหมอเสจึงปรับตำแหน่งและทาบทามให้รับบทบาทเป็น CEO ของมาสเตอร์”

เมื่อก้าวเข้าสู่ MASTER การทำงานถือว่าไม่แตกต่างจากงานเดิมมากนัก เพราะเคยร่วมงานกับผู้บริหารในทุกอุตสาหกรรมที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปรับตัวเข้าไปอยู่ในทุกธุรกิจได้และมีพื้นฐานในการบริหาร แต่ความแตกต่างคือ จากเคยทำเพียง 1 หน้าที่ ต้องดูแลองค์กรทั้งหมดให้ครอบคลุมมากขึ้น ถือว่าชาเลนจ์ตัวเองขึ้นไปอีกหนึ่งสเต็ป และในฐานะ CEO การพาทีมงานทุกคนเติบโตไปตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่ใช่เรื่องยาก การเป็นผู้หญิงก็ไม่เป็นอุปสรรคสำคัญ แม้ในธุรกิจศัลยกรรมของประเทศไทยโดยส่วนตัวที่มองเห็น CEO มักจะเป็นผู้ชายมากกว่า 80% แต่สิ่งที่ยากคือการถูกตั้งคำถามว่า “ไม่ใช่หมอมาบริหารโรงพยาบาลได้เหรอ”

ดังนั้น การทำงานจึงลงรายละเอียดทุกอย่างให้คนภายในองค์กรเห็น ปฏิบัติทุกกฏระเบียบเช่นเดียวกันกับพนักงานแม้กระทั่งการสแกนนิ้วเข้างาน เป็น Role Model ได้แม้ไม่มีตำแหน่งทางการแพทย์ และทำงานหนักโดยมีเป้าหมายชัดเจน บริหารงานแบบ One-Stop Service สามารถแชร์องค์ความรู้ที่ผู้บริหารจำเป็นต้องรู้ สื่อสารหรือถ่ายทอดความรู้ในฐานะตัวแทนของโรงพยาบาลได้ นำพาคนในองค์กรทำงานด้วยตัวเอง พิสูจน์ให้เห็นว่าทำอะไรบ้าง

เปิดวิชัน CEO หญิง ‘MASTER’ ปักธงเบอร์ 1 ด้านศัลยกรรม พิชิต 8,000 ล้าน

“คอนเซ็ปต์ส่วนตัวของเราเป็นคนหนึ่งที่ต้องนำร่องเรียนรู้เรื่องต่างๆ ก่อนที่จะนำมาใช้กับองค์กร หลักทำงานคือ 247 หมายถึง 24 ชั่วโมง 7 วัน ถ้าไม่ป่วยหนักจนหมอสั่งแอดมิดจะไม่หยุดทำงาน ฝึกทุกอย่างที่มากกว่าคำว่าวินัยจนกลายเป็นเนื้อหนังเป็นตัวตน แต่เวลาสั่งงานหรือต้องจัดการเรื่องอะไรก็ตามจะใส่ Soft Skills เข้าไปให้มีความละมุนมากขึ้น มีระยะกำหนดการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งแอ็คชั่นของเราจะช่วยกระตุ้นการทำงานของลูกน้องได้ หากทำไม่เสร็จก็สามารถบอกกล่าวให้รู้ว่าตัวแล้วเร่งทำงานให้คล่องแคล่วมากขึ้น”

“ลภัสรดา” กล่าวว่า ผู้บริหารกับพนักงานต้องเข้าถึงกันและกัน พูดคุยได้ตามตรงแบบไม่มีชนชั้น เป็นหนึ่งเดียวกลมเกลียวกัน แม้อาจจะยังทำไม่ได้ 100% แต่เชื่อว่าองค์กรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนอื่นได้ นับเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของ MASTER เพราะเมื่อเจอเรื่องใหญ่จะช่วยลดการสั่นสะเทือนลง ซึ่งในองค์กรจะไม่ได้อยู่กันแบบครอบครัวแต่อยู่กันแบบทีมนักกีฬา ทั้งผู้หญิงกับผู้ชายทุกคนล้วนมีความสามารถและความเท่าเทียมไม่ต่างกัน ต้องร่วมแข่งขันด้วยกันทั้งหมด พนักงานต้องเข้าใจ Core Value ใช้หลักและวัฒนธรรมเดียวกันในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ตำแหน่งแม่บ้าน รปภ. ระดับการจัดการ รวมถึงพาร์ทเนอร์ด้วย

การคัดเลือกบุคลากรเข้ามาทำงานก็มีส่วนสำคัญสำหรับองค์กร MASTER จะเชื่อในเรื่องของคนดีที่สามารถฝึกเป็นคนเก่งได้ แต่จะไม่เชื่อว่าคนเก่งที่เป็นคนไม่ดีจะกลายเป็นคนดีได้ จึงคัดเลือกคนแบบเอ็นเนียแกรม (Enneagram) หรือบุคคล 9 ประเภท ดูลักษณะบุคลิกภาพว่าเป็นคนแบบไหน ไม่มองแค่ว่าเก่งด้านไหน ต้องลงลึกว่าแต่ละคนเหมาะทำหน้าที่อะไร เพื่อให้การทำงานเกิดความสนุกและทุกคนพร้อมวิ่งไปด้วยกัน

“ลภัสรดา” บอกว่า ตอนนี้ MASTER ถือว่าเข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว ดำเนินกิจการเป็นโรงพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2561 นับเป็นเบอร์ 1 ในด้านศัลยกรรมและบุคลากรทางการแพทย์ โดยโรงพยาบาลมาสเตอร์พีชมีแพทย์ Full Time ทั้งหมด 47 คนลูกค้ามาโรงพยาบาลใน 1 สัปดาห์จะต้องได้เจอแพทย์ ถือเป็นจุดแข็งอย่างแรกเพราะ “ความสวยรอไม่ได้” ต่างจากที่อื่นที่มักจะพบแพทย์ Part Time แค่ 1-2 วัน/สัปดาห์ จุดแข็งที่สองคือ เคสของการทำศัลยกรรมแต่ละรายของโรงพยาบาล ทำให้เกิดการบอกต่อ (Word-of-Mouth) เป็นจำนวนมาก สามารถดันยอดลูกค้าให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เปิดวิชัน CEO หญิง ‘MASTER’ ปักธงเบอร์ 1 ด้านศัลยกรรม พิชิต 8,000 ล้าน

จากธุรกิจระยะแรกของ MASTER นับตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันอยู่ในช่วงระยะที่สอง แบ่งออกเป็น 2 เรื่อง คือ 1. การเป็น Specialty Hospital Hub ของเมืองไทย 2. Regional Company มองถึงการสร้างประเทศไทยให้เป็นฮับแห่งความงามคล้ายเกาหลี ด้วยการจับมือกับพาร์ทเนอร์ร่วมกับ 15 บริษัทในประเทศ และล่าสุดได้จับความร่วมมือกับประเทศอินโดนีเซีย เป็นกลุ่มเอเจนซีพาร์ทเนอร์ที่มีเครือข่ายคลินิกและโรงพยาบาลมากกว่า 200 แห่ง ถือเป็นการจับมือ MOU กับอินโดนีเซียรายแรกของประเทศไทย

“ที่จริงเรามีพาร์ทเนอร์อยากเข้ามาร่วมงานด้วยกันนับ 100 ราย แต่ต้องคัดที่เคมีต้องเข้ากัน มีวัฒนธรรมองค์กรเดียวกัน บริหารงานในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งเป้าหมายของ MASTER คือการขยายตัวในธุรกิจศัลยกรรมที่สามารถควบคุมคุณภาพได้”

ขณะเดียวกัน MASTER ก็ต้องการเพิ่มสัดส่วนให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยให้มากขึ้น ในปี 2568 ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนลูกค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 25.85% เป็น 40% จากอินโดนีเซีย กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และจีน นอกจากนี้ยังวางแผนธุรกิจในเครือไว้ที่สัดส่วนตัวเลข 883 คือ รายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท กำไร 800 ล้านบาท และเพิ่มอีก 3 บริษัทพาร์ทเนอร์ ภายใน 2 ปี และในไตรมาส 1 ของปี 2568 น่าจะมีแผนงานที่ปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์ของตลาดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยความนิยมในปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องการทำจมูกมากที่สุด ถัดมาคือยกคิ้ว ดึงหน้า ดึงคอ ทำหน้าอก และดูดไขมัน

อย่างไรก็ตาม “ลภัสรดา” กล่าวว่า คำนิยามส่วนตัวสำหรับการบริหารองค์กรและธุรกิจคือเน้นเรื่องของเป้าหมายและความสำเร็จ ในฐานะ CEO ที่เป็นผู้หญิง มองว่าสิ่งสำคัญของผู้บริหารหญิงในประเทศไทยวิธีการบริหารงาน เมื่อออกไปยืนอยู่ข้างหน้าองค์กรจะทำให้พนักงานเกิดความมั่นใจได้มากน้อยแค่ไหนในธุรกิจ แน่นอนว่าจุดท้าทายคือการเติบโตและขยายธุรกิจ และอยากเห็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การสร้างประโยชน์จากเงินภาษีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ไปในทางที่ดีขึ้น รวมทั้งปัจจัยพื้นฐานและสวัสดิการที่ทุกคนเท่าเทียมกัน