เปิดยุทธศาสตร์ “MASTER” สยายปีกสู่ Specialty Hospital

21 มี.ค. 2567 | 13:50 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2567 | 13:53 น.

เปิดแนวรุก “MASTER” สยายปีกสู่ Specialty Hospital เดินหน้าจับมือบริษัทศัลยกรรมความงามชั้นนำ ขยายอาณาจักร พร้อมโรดโชว์ต่างประเทศ ดึงนักลงทุนเพิ่ม มั่นใจสิ้นปีดันยอดขายเติบโตกว่า 20%

นางสาวลภัสรดา เลิศภานุโรจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MESTER ผู้บริหาร “โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช” เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมแพทย์ความงามยังคงเติบโตต่อเนื่อง เพราะยิ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาไปไกลมากขึ้น ก็ยิ่งส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของการใช้บริการธุรกิจประเภทนี้ตามไปด้วย หากวิเคราะห์จากข้อมูลนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยหลังจากเปิดประเทศ รวมไปถึงพฤดิกรรมของคนไทยที่ชื่นชอบความสวยความงาม พบว่า เทรนด์ความงาม ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้เห็นถึงโอกาสการเติบโตในธุรกิจนี้อย่างชัดเจน

 

นางสาวลภัสรดา เลิศภานุโรจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน)

 

ทั้งนี้ MASTER ได้ขยายการลงทุนด้วยการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทชั้นนำในวงการศัลยกรรมความงามรวม 15 กิจการ ในสัดส่วนตั้งแต่ 36-40% คิดเป็นมูลรวม 1,300 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 

  1. Cross Border ประกอบไปด้วย Wind Clinic, TYP, Aurora Clinic 
  2. Cross Selling ประกอบไปด้วย Rattinan, Dr. Chen, The Skin Clinic (Hair), BEQ, เชียงใหม่ เนิร์สซิ่งโฮม, V Square, Me Center, กรวิร & รณภีร์ และ S45 
  3. Cross Synergy ประกอบไปด้วย KIN Corp., Twinkle Star และ Aescode 

ด้านแผนการลงทุนในปีนี้ บริษัทจะลงทุนเท่ากับปีที่ผ่านมา โดยดูจากสถานการณ์ แนวโน้ม แล้วปรับเปลี่ยนให้ดี ดูความพร้อมของบริษัทที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันด้วย รวมถึงการวางระบบการจัดการเพื่อให้เป็น High Performance Organization แบบ MASTER ครอบคลุมทั้งในด้าน Cross Border , Cross Selling และ Cross Synergy โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% หลังจากปี 2566 ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ทำให้บริษัทมีความน่าเชื่อถือและมีแหล่งเงินทุน สามารถต่อยอดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้จากกิจการโรงพยาบาลได้ 1,916.76 ล้านบาท เติบโตขึ้น 30% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 1,482.59 ล้านบาท และมีกำไร 416.30 ล้านบาท

“แต่ละบริษัทที่ MASTER เข้าไปลงทุนจะถูกคัดกรองมาอย่างดี ตั้งแต่ขนาดเล็ก-ใหญ่ มีทุกระดับทั้งล่าง กลาง จนถึงพรีเมี่ยม เป็นการเก็บตลาดในหัตถการของร่างกายทั้งหมดเว้นการแปลงเพศ หลังจากนั้นจะเริ่มปรับปรุงการบริหารงาน ทำงานเหมือนเป็น MD (Managing Director) ของพาร์ทเนอร์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในปีนี้หลายบริษัทจะเริ่มเห็นกำไรในไตรมาสที่ 3 และอัตราการเติบโตต้องไม่ใช่เพียงแค่ในชื่อของ MASTER เท่านั้น พาร์ทเนอร์ที่เข้ามาร่วมต้องเติบโตด้วย”

โดยเชื่อว่ามูลค่าหลักทรัพย์จะมีการเติบโตขึ้นหลังจากครบ 1 ปี พร้อมเตรียมเข้า SET หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างแน่นอนในปีนี้ ซึ่งเงินจากหุ้นไอพีโอ (IPO) จะแบ่งเป็น 2 ส่วน 1.นำมาขยายกลุ่ม MASTER และ 2.ต่อยอดเป็น Specialty Hospital เน้นการเติบโตทั้ง Organic และ Inorganic ด้วยกลยุทธ์แบบ Merger and Partnership (M&P)

"ตอนนี้กองทุนให้ความสนใจเราเป็นจำนวนมาก ในแต่ละเดือน MASTER โรดโชว์กองทุนไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ไม่ต่ำกว่า 10 กองทุน มีไปประเทศสิงคโปร์ด้วย เราเชื่อว่า MASTER เป็นเอ็ม เอ ไอ 1 ใน 3 ที่นักลงทุนให้ความสนใจ ตอนประชุมผู้ถือหุ้นน่าจะได้เห็นอะไรหลายอย่างชัดเจนมากขึ้น และในช่วงเดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป จะเห็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของ MASTER ทั้งการรับลูกค้า การดูแลบุคลากรแพทย์ การเทรนนิ่งแพทย์ให้มีความรู้และเข้าถึงคนไข้ได้มากขึ้น รวมถึงเน้นไปที่จุดแข็งการบริการ การดูแลบุคลากรและทำให้พาร์ทเนอร์เติบโตไปด้วยกัน ซึ่งในไตรมาส 4 จะเห็นได้เทรนด์ของตลาดที่จะสร้างให้กำไรให้ MASTER เติบโตได้อย่างแน่นอน"

นางสาวลภัสรดา กล่าวว่า หลังจากนั้นจะปรับโมเดลการทำงาน ด้วยการมองตัวเองเหมือนโรงพยาบาลเกาหลี ให้ผู้เข้ารับบริการพักแบบวันเดย์ปริปและเพิ่มห้อง IPD สำหรับการนอนค้างคืนมากขึ้น ส่วนราคาที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการในกุล่ม MASTER ถือว่าค่อนข้างใกล้เคียงกับในเกาหลี แต่มองโดยรวมอาจจะถูกว่าเล็กน้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นการทำหัตถการทางการแพทย์ที่ลูกค้าสามารถกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านได้ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการค้างคืนหรือดูแลรักษาในระยะยาว ส่วนคนที่เลือกเดินทางไปเกาหลีจะมีงบประมาณสูงในระดับหนึ่งและมีเวลาอยู่ในโรงพยาบาลหลายวัน

สำหรับ 4 อันดับศัลยกรรมที่คนนิยมมาใช้บริการมากสุดในโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช ได้แก่ 1 ศัลยกรรมจมูก 2 ยกคิ้วดึงหน้า 3 ศัลยกรรมหน้าอก และ 4 การดูดไขมัน ขณะเดียวกันก็ติด 1 ใน 10 ของรางวัลในทุกสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ อย่างเช่น การใช้โบท็อกซ์และฟิลเลอร์ และเป็นที่ 1 ในธุรกิจความงามที่สื่อสารผ่านการโปรโมทในโลกโซเซียลกว่า 95% โดยในนามโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช จะมุ่งเน้นไปที่การเป็น Specialty Hospital มากขึ้นภายใน 3 ปีนับจากนี้ เช่น การสร้างโรงพยาบาลจิตเวช 50 ห้อง

เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาผู้คนมีแน้วโน้มการเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเกือบ 2 เท่า ซึ่งไม่ใช่ส่วนที่จะเข้ามาสร้างกำไรให้กับ MASTER แต่จะอยู่ในส่วนของ CSR เช่นเดียวกันกับโรงพยาบาลดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ในจังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังจะสร้าง ที่มีห้องพักประมาณ 50 ห้องเช่นเดียวกัน โดยเชื่อว่าหากทำธุรกิจเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ช่วยเหลือสังคม กลุ่ม MASTER จะไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน