โรคเครียดจากข่าว ระบาดหนัก กรมสุขภาพจิต แนะ 5 วิธีเยียวยาตัวเอง 

16 ต.ค. 2567 | 14:20 น.

กรมสุขภาพจิต เผยความเสี่ยงจากการเสพข่าวมากเกินไป แนะ 5 วิธีรับมือกับความเครียดจากข่าวสาร ป้องกันภาวะ Headline Stress Disorder ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาว

ภาวะเครียดจากการเสพข่าว หรือ Headline Stress Disorder เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้เมื่อเราได้รับข้อมูลข่าวสารมากจนส่งผลให้เกิดความเครียด วิตกกังวลหรือรู้สึกหนักใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข่าวสารเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบทางลบ เช่น ภัยธรรมชาติ การเมือง ความรุนแรง หรือเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ

นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า อาการดังกล่าวข้างต้นพบได้มากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลาและมีการเผยแพร่ข้อมูลที่หลั่งไหลมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผ่านสื่อออนไลน์ เช่น โซเชียลมีเดีย ซึ่งส่งผลให้บุคคลรับทราบข่าวสารเรื่องเดียวกันจำนวนมาก เกิดภาวะความเครียดสะสม

นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต

อาการที่พบบ่อยในผู้มีภาวะเสพข่าว คือ ตึงเครียด วิตกกังวล เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ เกิดขึ้นเมื่อติดตามข่าวสารที่เป็นลบหรือที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติความเหนื่อยล้าทางจิตใจ รู้สึกว่าต้องเผชิญกับข่าวที่กดดันและทำให้หมดพลัง การนอนไม่หลับ จากความกังวลเรื่องข่าวหรือการรับรู้ปัญหาตลอดเวลาภาวะหลีกหนีสังคม หลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับข่าวสารรู้สึกสิ้นหวัง เมื่อเห็นข่าวร้ายเป็นประจำ

ผลกระทบจากภาวะเสพข่าวจนเครียด สามารถมีผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ และชีวิตประจำวันของบุคคลที่ได้รับผลกระทบ โดยสามารถแบ่งได้ ดังนี้ 

1.ผลกระทบทางจิตใจ

จากการเสพข่าวที่มีเนื้อหาด้านลบเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ทำให้เกิดภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า เหนื่อยล้า และรู้สึกสิ้นหวังต่อสถานการณ์นำไปสู่ภาวะความเครียดสะสม และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว อาจทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ทำให้มีภาวะเหนื่อยล้าและหมดพลังทางจิตใจ 

2.ผลกระทบทางร่างกาย

ความเครียดจากข่าวสารอาจทำให้นอนไม่หลับ บางครั้งมีภาวะปวดหัว กล้ามเนื้อตึงและส่วนอื่นๆ ของร่างกาย 

3.ผลกระทบต่อพฤติกรรม

บางรายอาจไม่สามารถหยุดติดตามข่าวสารได้ เนื่องจากความกังวลว่าตนจะพลาดข้อมูลสำคัญทำให้ขาดสมาธิส่งผลต่อการทำงาน การเรียน หรือการดำเนินชีวิตประจำวัน

4. ผลกระทบต่อความสัมพันธ์

ความเครียดจากข่าวสารอาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันหรือโกรธกันในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน หากมีความเห็นที่แตกต่างกัน 

นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมโดยให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางจัดการภาวะเครียดจากการเสพข่าวด้วยตนเองได้ 5 วิธี ดังต่อไปนี้ 

1.จำกัดเวลาในการติดตามข่าวสาร เช่น กำหนดช่วงเวลาที่จะรับข่าวในแต่ละวัน 

2. เลือกแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ระวังข่าวลวง 

3. พักผ่อนและทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือหรือทำสมาธิ 

นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต

4. หาเวลาในการพูดคุยกับผู้อื่น เพื่อแบ่งปันและระบายความรู้สึก 

5. ฝึกการควบคุมอารมณ์และความคิด โดยใช้เทคนิคการหายใจเพื่อผ่อนคลายหรือฝึกสติแบบง่าย ๆ ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช้โรคจิตเวชแต่เป็นปัญหาที่สามารถจัดการได้ด้วยการปรับแนวคิดและเพื่อรับมือกับข่าวสารอย่างมีสติ

การเข้าใจผลกระทบเหล่านี้สามารถช่วยให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการการเสพข่าวสารอย่างมีสติและการดูแลสุขภาพจิตในยุคที่ข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ หากรับข่าวสารแล้วเกิดความเครียดไม่สบายใจ กรมสุขภาพจิตมีช่องทางปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตสำหรับประชาชนสามารถขอรับคำปรึกษาได้โดย ตรวจสุขภาพใจกับ MENTAL HEALTH CHECK-IN หรือ DMIND บนแอพพลิเคชั่น หมอพร้อม Sati App สามารถดาวน์โหลดฟรี หรือสายด่วนสุขภาพจิต โทร 1323 ตลอด 24 ชม.