11 ตุลาคม 2567 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 23/2567 ว่าขณะนี้ยังมีสถานการณ์ใน 16 จังหวัด รอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีเพิ่มที่ จ.สิงห์บุรี จากน้ำล้นตลิ่ง
ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ที่ จ.เชียงใหม่ เป็นหญิงอายุ 57 ปี จากเหตุเรือล่ม บาดเจ็บเพิ่ม 1 ราย สูญหายเพิ่ม 1 ราย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 70 ราย บาดเจ็บสะสม 2,420 ราย สูญหายสะสม 2 ราย จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 55 ทีม ให้บริการประชาชน 2,719 ราย ดูแลกลุ่มเปราะบาง 179 ราย
ประเมินสุขภาพจิต 509 ราย พบภาวะเครียดสูง 21 ราย เสี่ยงซึมเศร้า 1 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 12 ราย หลังให้การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ มีผู้ต้องส่งต่อพบแพทย์ดูแลจิตใจต่อเนื่อง 13 ราย
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์ใน จ.เชียงใหม่ เริ่มคลี่คลายแล้ว คงเหลือศูนย์พักพิงให้บริการ 36 แห่ง สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งทั้งโรงพยาบาลและ รพ.สต. สามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติ และมีการเตรียมพร้อมดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ทั้งการป้องกันควบคุมโรคที่มากับน้ำ สุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังติดตามดูแลเยียวยาจิตใจผู้มีความเสี่ยงต่อเนื่องจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
สำหรับ จ.ลำพูน ซึ่งรับมวลน้ำจากเชียงใหม่ยังคงมีสถานการณ์ใน อ.เมือง มีการเปิดศูนย์พักพิง 12 แห่ง รองรับได้ 200 คน มีผู้เข้ารับบริการแล้ว 82 คน ไม่มีสถานพยาบาลได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ หลายพื้นที่ยังมีความเสี่ยงจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี, จากน้ำทะเลหนุนสูงวันที่ 13-24 ตุลาคมนี้ อาจทำให้แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง น้ำสูงจนล้นตลิ่ง ได้แก่ สมุทรปราการ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม
นอกจากนี้จากฝนตกหนักทำให้เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และแผ่นดินถล่ม โดยเฉพาะ 17 จังหวัดในภาคตะวันตกและภาคใต้ ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้ให้หน่วยงานสาธารณสุขทุกพื้นที่เสี่ยงเตรียมความพร้อมป้องกันสถานพยาบาลและเตรียมทีมบุคลากรทางการแพทย์ดูแลช่วยเหลือประชาชนและกลุ่มเปราะบาง
สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ระยะฟื้นฟู ได้กำชับให้เฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 3 โรค ได้แก่
1.โรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคฉี่หนู ซึ่งพื้นที่ที่น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว 8-28 วัน มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
2.โรคเมลิออยโดสิสหรือโรคไข้ดิน ซึ่งยังไม่พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ทั้งโรคฉี่หนูและโรคไข้ดินมีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อคล้ายกัน คือ การย่ำดินแฉะ ลุยแอ่งน้ำขัง ว่ายน้ำตามคูคลอง ลุยน้ำท่วม เป็นต้น
3.โรคไข้เลือดออก แม้แนวโน้มผู้ป่วยลดลงในทุกพื้นที่ แต่ยังคงมีรายงานผู้ป่วย ดังนั้น ช่วงปิดเทอมนี้ขอให้เฝ้าระวังในเด็กด้วย เพราะอาจสัมผัสโรคจากการช่วยทำความสะอาดฟื้นฟูบ้านเรือนและสถานที่สาธารณะหลังน้ำลด