สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เผยข้อมูลเนื่องใน วันมะเร็งเต้านมโลก (World Breast Cancer Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เดือนตุลาคมของทุกปี โดยระบุว่า มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัย พบมากที่สุดแซงหน้า มะเร็งปอด ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านคนทั่วโลก และมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งชนิดเดียวที่เกิดขึ้นที่อวัยวะภายนอกคลำหาได้ด้วยมือและสามารถรักษาได้
จากสถิติพบว่า ร้อยละ 85 ของผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมมาพบแพทย์หลังจากคลำพบก้อนเนื้อขนาดใหญ่มากกว่า 1 ซม. ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต
วิธีป้องกัน คือ คลำเต้านมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพิ่มโอกาสรอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม 90%
ทั้งนี้ สิทธิบัตรทอง ครอบคลุมการดูแลรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด และได้พัฒนาคุณภาพบริการโดยเป็นหนึ่งในนโยบายยกระดับบัตรทองสู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ ในชื่อ โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม
เมื่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็ง แพทย์ผู้รักษาจะมีรายชื่อหน่วยบริการที่พร้อมให้บริการ เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเลือกตัดสินใจร่วมกันว่าจะไปรักษาที่ใกล้บ้านที่ได้ โดยไม่ต้องขอหนังสือส่งตัวจาก รพ.ตามสิทธิบัตรทอง
นอกจากนี้ล่าสุด สปสช. ได้บรรจุสิทธิประโยชน์บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรง สำหรับผู้หญิงไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย
โดยในปี 2567 นี้ได้ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแบบประเมินคัดกรองสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและการรับสิทธิตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้กลุ่มเป้าหมายเห็นความสำคัญในการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองนี้ พร้อมจัดระบบให้คำแนะนำและประสานส่งต่อโดยสายด่วน สปสช. 1330