9 ตุลาคม ที่กระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) คนใหม่ นำคณะเข้าพบ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดย นางสาวธีรา วีระวงศ์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สปส. เปิดเผยภายหลังร่วมรายงานแผนการดำเนินงานของ สปส.ว่า
ในวันนี้เป็นการรายงานแผนการดำเนินงานของ สปส. ตามปกติ โดยล่าสุดสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการในนามของ สปส. ในการร่วมศึกษาดำเนินงานทบทวนและแก้ไขหลักเกณฑ์อัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อาทิ ตัวแทนภาคส่วนโรงพยาบาลเอกชน ตัวแทนโรงพยาบาลรัฐบาล และผู้แทนจากคณะกรรมการประกันสังคม ประมาณ 20 คนโดยคาดว่า จะมีประชุมกันในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ กำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานประมาณ 90 วัน
ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้ทาง สปส. เร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้ครอบคลุมในทุกมิติเพื่อให้ผลลัพธ์ของการบริการต้องส่งถึงผู้ประกันตนให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน
ต่อข้อซักถามกรณีมีกระแสข่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งลงชื่อเตรียมถอนตัวออกจากการเป็นคู่สัญญาในระบบประกันสังคม หลังกังวลว่าจะมีการปรับลดอัตราจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ประเภทผู้ป่วยใน (IP) ในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงของปี 2567 ลงนั้น
นางสาวธีรา กล่าวว่า ทาง สปส. ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้แต่อย่างใด มีแต่รายงานว่า ปีหน้าทั้งโรงพยาบาลเอกชนและรัฐบาลจะเข้าระบบกองทุนประกันสังคมเพิ่มแต่ยังไม่เห็นรายงานว่ามีรายชื่อโรงพยาบาลเอกชนที่จะถอนตัวออกจากระบบในปีนี้หลายแห่งตามที่ปรากฎเป็นข่าว
นางสาวธีรา กล่าวยืนยันว่า ตอนนี้ไม่มีการปรับลดงบประมาณหรืออัตราจ่ายชดเชยค่ารักษาโรคค่าใช้จ่ายสูงให้กับโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากเป็นกรอบวงเงินอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการเบิกงบฯของโรงพยาบาล หากเบิกงบฯมาใช้ก่อนล่วงหน้า ปลายปีก็จะเหลือน้อย โดย สปส.จ่ายค่ารักษาในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงให้โรงพยาบาลทุกเดือนในอัตรา 12,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW มาตลอด มีแค่ช่วง 2 เดือนหลังนี้เท่านั้น (เดือน พ.ย.-ธ.ค.) ที่จ่าย 7,200 บาทต่อหน่วย
ขณะที่ล่าสุดมีรายงานว่า พล.ต.ท.ธนา ธุระเจน ประธานกรรมการ การแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ลงนามในหนังสือคำสั่ง คณะกรรมการการแพทย์ ที่ 4/2567 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) ใจความระบุว่า คณะกรรมการ การแพทย์ในการประชุมครั้งที่ 10/2567 วันที่ 2 ต.ค.2567
เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 แต่งตั้งอนุกรรมการ ทบทวนหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม จำนวน 29 คน โดยมี นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล เป็นประธานอนุกรรมการ โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้
1.ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติที่เกี่ยวข้องกับสถานะสุขภาพ การเจ็บป่วย การใช้บริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตน และการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาล
2.ศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลในการให้บริการทางการแพทย์
3.จัดทำหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลในระบบประกันสังคมเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์
4.ดำเนินการตามข้อ 1 ถึงข้อ 3 ให้อนุกรรมการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับถัดจากวันที่ลงนามในคำสั่งนี้ และ 5.ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการการแพทย์มอบหมาย