รพ.เอกชน ขู่ถอนตัวเพิ่ม จากการเป็นคู่สัญญาประกันสังคมปี 68

08 ต.ค. 2567 | 13:34 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2567 | 14:20 น.
1.7 k

รพ.เอกชน ร่วมลงชื่อเพิ่ม 70 แห่ง ออกจากการเป็นคู่สัญญาประกันสังคม ปี 2568 เรียกร้องปรับปรุงค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ก่อนเซ็นสัญญาให้บริการในปลายปีนี้

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจาก 2 โรงพยาบาเอกชน อย่างโรงพยาบาลกรุงเทพสุราษฎร์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลซีจีเอช สายไหม กรุงเทพมหานคร ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม ขณะนี้มีเพิ่มอีก 70 โรงพยาบาลเอกชน ที่กำลังรอดูท่าทีของสำนักงานประกันสังคมและรอหารือกันก่อนเซ็นสัญญาให้บริการในปี 2568 

โดยมีเงื่อนไขว่าสำนักงานประกันสังคมต้องปรับปรุง ปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายอย่างเดียวเท่านั้น เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายประมาณ 4-5 รายการไม่เคยปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับปัจจุบันเลย โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคที่มีค่า Adjusted RW มากกว่า 2 ที่เป็นกลุ่มโรคซับซ้อนรักษายาก

"ตอนนี้กว่า 70 โรงพยาบาลกำลังรอความชัดเจนจากประกันสังคม และจากการหารือร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้กำหนดให้มีตั้งคณะอนุกรรมการมาศึกษาเรื่องอัตราการจ่ายในเรื่องนี้แล้ว กรณีนี้จะต้องมีทุกหน่วยงานร่วมกัน ทั้งฝั่งประกันสังคม ภาคเอกชน แพทย์ แต่ก็ยังไม่เห็นหนังสือคำสั่งแต่งตั้งออกมาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ขณะที่การเซ็นสัญญาเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคมในปี 2568 จะต้องดำเนินการภายในปลายปี 2567 นี้"

ด้าน นายแพทย์ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2565-2566 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้ปรับลดค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคที่มีค่า Adjusted RW มากกว่า 2 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทั้งสองปี ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคมต้องเผชิญกับภาระขาดทุน และไม่ได้ปรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นมาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ปัจจุบันจึงเกิดผลกระทบโดยตรงต่อโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกันตนเป็นจำนวนมาก

“เรื่องนี้ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ต้องการเข้าไปชี้แจงกับคณะกรรมการประกันสังคมเกี่ยวกับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูงขึ้น ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะหาแบกรับต้นทุนไม่ไหว หลายโรงพยาบาลก็เลือกจะออกจากระบบประกันสังคม เพราะหากออกจากระบบประกันสังคมแล้วก็จะสามารถบริหารจัดการเงินได้ดีกว่า คนไข้จ่ายค่ารักษาตามความจริงได้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ที่มีศักยภาพสูง”

ฉะนั้น ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาทบทวนอัตราค่าตอบแทนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และปรับระบบการจ่ายค่ารักษาสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เสนอให้กำหนดอัตราขั้นต่ำที่ 15,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW เพื่อให้โรงพยาบาลลดภาระทางการเงินลงได้