20 กันยายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มแพทย์ยื่นหนังสือร้องถึงตนเพื่อส่งผ่านไปถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอเพิ่มงบบัตรทองว่า ที่บอกว่าขาดทุนอยากขอให้มาพบกับตน เพราะบอกไปแล้วว่า การคิดคำนวนของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น ประกาศเร็วไป ซึ่งมีส่วนต่างเพียงเล็กน้อย ดังนั้น จะบอกว่าขาดทุนไม่ได้ โดยรัฐบาลก็เพิ่งเติมงบประมาณให้ซึ่งต้องนำคณิตศาสตร์มาคำนวน
ส่วนการประชุมบอร์ด สปสช. ที่จะถึงนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อไปดูรายละเอียดงบประมาณทั้งหมดโดยเฉพาะเรื่องของตัวเลขที่น่ากลัว
นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงบประมาณผู้ป่วยในที่จ่ายแบบปลายปิดแบบระบบการวินิจฉัยโรคร่วม หรือ DRGs คิดสัดส่วนการจ่ายอยู่ที่ 8,350 บาทต่อหนึ่งหน่วย (adjRW) ซึ่ง สปสช. ประกาศเร็วไปในการปรับลดเหลือ 7,000 บาทต่อหน่วย เพราะมีผู้มาใช้บริการในรพ.เป็นผู้ป่วยในมากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจึงต้องปรับลด
ทั้งนี้ หากมาคิดคำนวณและสปสช.ประกาศช้าหน่อยจะพบว่า ภายในปีงบประมาณ คือ วันที่ 30 กันยายน 2567 จะพบตัวเลขเฉลี่ยจ่ายอยู่ที่ 8,154 บาทต่อหน่วย ต่างกันจาก 8,350 บาทต่อหน่วย ต่างกันประมาณ 190 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
เมื่อคิดตัวเลขจะมาบอกขาดทุนไม่ได้ และรัฐบาลก็เติมมาให้แล้วเมื่อ ครม.ที่ผ่านมา เป็นงบกลาง 5,924 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเงินตรงนี้มาแสดงว่า สามารถจ่ายได้ตามเดิม คือ 8,350 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ดี วันที่ 23 ก.ย.นี้จะมีการประชุม บอร์ดสปสช. นายสมศักดิ์ ในฐานะประธานอาจจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินผู้ป่วยในให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ กลับไปเป็นตัวเลขเดิมที่ 8,350 บาทต่อหน่วย จากที่ก่อนหน้านี้ประกาศที่ 7,000 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 คณะแพทย์ช่วยเพื่อนแพทย์และประชาชนนำโดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ หัวหน้าคณะแพทย์ช่วยเพื่อนแพทย์และประชาชน เข้ายื่นหนังสือถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยผ่านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเรียกร้องขอให้แก้ปัญหา "วิกฤติระบบสาธารณสุขของชาติ" โดยมี นพ.วัฒน์ชัย จรูญวรรธนะ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าวแทน
สำหรับการยื่นหนังสือดังกล่าวนี้เพื่อขอให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านระบบสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอต่อความเป็นจริง โดยมีข้อเสนอดังนี้
1.อนุมัติจ่ายเงินงบประมาณด้านการรักษาพยาบาล ในระบบหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น และบริหารจัดการเงินที่จ่ายให้โรงพยาบาลให้เพียงพอกับการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล กรณีที่มีความจำเป็นอาจต้องให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายด้วยเพื่อให้โรงพยาบาลของรัฐยังคงมีเงินเพียงพอที่จะให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.เปลี่ยนนโยบายด้านสาธารณสุข โดยเน้นให้มีการสร้างเสริมสุขภาพเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ลดภาระการรักษาพยาบาลของรัฐ โดยจัดให้มีการประชาสัมพันธ์เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกาย รับประทานอาหารสุขภาพ และลดความเครียด งดบุหรี่ กัญชา กระท่อม ยาบ้า งดหรือลดเครือ่งดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ประชาชนมีความสุข มีสุขภาพดี ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลที่อยู่ในภาวะวิกฤติลดลงได้ในที่สุด
3.เพิ่มค่าตอบแทนแพทย์ให้เหมาะสม และปรับภาระงานไม่ให้ล้นเกิน เพื่อให้แพทย์มีเวลาเพียงพอในการตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยความละเอียดรอบคอบมากขึ้น และมีเวลาพักผ่อนตามสมควร รวมทั้งมีมาตรการลดความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้อง เพื่อแก้ปัญหาแพทย์ลาออกจากระบบราชการจำนวนมาก ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน