“ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล” จ่อขนทัพยาบุกตลาดมาเลเซีย-ฮ่องกง

19 พ.ค. 2567 | 12:07 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2567 | 12:10 น.

"ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล" บุกตลาดมาเลเซีย-ฮ่องกง เล็งขนทัพสินค้าขายผ่านโรงพยาบาลรับกลุ่ม NCDs ที่เพิ่มจำนวน พร้อมลงทุนหลังบ้าน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คลังสินค้า ศูนย์ R&D

นายประพล ฐานะโชติพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “TMAN” ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน, ยาสมุนไพร, เครื่องสำอาง ฯลฯ กล่าวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมยายังมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง จากแนวโน้มการจำหน่ายยาในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2566 – 2568  คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโต 5-6% ต่อปี เนื่องจากทิศทางของเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ 

ส่งผลให้ผู้ป่วยต่างชาติกลับมาใช้บริการมากขึ้น ตลอดจนการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคยาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาลจะเติบโตเฉลี่ยที่ 6.3 % ต่อปี ขณะที่มูลค่าการจำหน่ายผ่านร้านขายยา (OTC) จะเติบโตเฉลี่ยที่ 5.0 % ต่อปี (อ้างอิงจาก Krungsri Research)

นายประพล ฐานะโชติพันธ์

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการด้านเวชภัณฑ์ยาภายหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันโรคต่างๆ  ประกอบกับประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ และการเข้าสู่สังคมเมืองที่ต้องเผชิญมลภาวะและขาดการออกกำลังกาย ทำให้ความต้องการยาเสริมภูมิคุ้มกันหรือป้องกันโรคเพิ่มขึ้น 

ปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกสินค้าไปแล้ว 22 ประเทศทั่วโลก และในปีนี้จะมุ่งที่จะขยายสินค้น Propoliz สเปรย์บรรเทาอาการเจ็บคอ ไปยังสองประเทศเป้าหมายหลัก ได้แก่ มาเลเซีย และ ฮ่องกง สำหรับตลาดมาเลเซียเป็นตลาดที่ใหญ่ มีศักยภาพสูงสำหรับผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ อีกทั้งผู้บริโภคชาวมาเลเซียมีความตระหนักรู้ด้านสุขภาพสูง และต้องการผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับบริษัทเพิ่งได้รับใบอนุญาตให้เป็นตัวแทนจำหน่าย Propoliz ในรูปแบบร้านยา ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคชาวมาเลเซียได้อย่างกว้างขวาง

ส่วนฮ่องกง เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง ผู้บริโภคชาวฮ่องกงมีกำลังซื้อสูงและยินดีจ่ายเงินสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และผู้บริโภคชาวฮ่องกงมีความสนใจในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมากขึ้น Propoliz ทำมาจากสารสกัดธรรมชาติ จึงน่าจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้

สำหรับแผนธุรกิจในประเทศ จะเน้นขายโรงพยาบาลมากขึ้น เนื่องจากมูลค่าจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาลเติบโตสูงในอนาคต ซึ่งสัดส่วนการจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาลมีส่วนแบ่ง 80% ของมูลค่าตลาดยาทั้งหมด ประกอบกับจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จาก 12.7 ล้านคนในปี 2565 เป็น 17.6 ล้านคนภายในปี 2573 คิดเป็น 18% CAGR จึงต้องการการดูแลเข้าถึงโรงพยาบาลมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 

นายตรัส อบสุวรรณ

นอกจากนี้รายได้จากการขายตามกลุ่มผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้า แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.รายได้จากการขายตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น ยาแผนปัจจุบัน 52% ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 7% ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง 37% ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 4%  และ 2. รายได้จากการขายตามกลุ่มลูกค้าร้านขาย 58%  โรงพยาบาล 12% ค้าปลีกสมัยใหม่และค้าปลีกเฉพาะอย่าง 10% คลินิก 7% กลุ่มลูกค้าในต่างประเทศ 8% และ อื่นๆ 5%

นายตรัส อบสุวรรณ  ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ TMAN กล่าวว่า เพื่อรองรับการขยายฐานลูกค้าได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศกลุ่มบริษัท มีแผนการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและ/หรือติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งประกอบด้วย

1) ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานผลิต ที.แมน ฟาร์มา โดยลงทุนติดตั้งเครื่องจักรและระบบการผลิตยาแผนปัจจุบันประเภท เม็ด น้ำ และครีมเพิ่มเติม คาดว่าทั้ง 2 ส่วนจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2567

2) โครงการปรับปรุงและขยายศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมทั้งลงทุนอุปกรณ์เครื่องมือวิจัย คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567

3) โครงการก่อสร้างคลังสินค้าและอาคารสำนักงานของบริษัท เฮเว่น เฮิร์บ จำกัด รวมถึงการปรับปรุงที่ดินและติดตั้งระบบ

4) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพร สำหรับสายการบรรจุผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในโรงงานผลิต เฮเว่น เฮิร์บ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2567 

5) โครงการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ของบริษัท เฮเว่น เฮิร์บ จำกัด โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2567 ซึ่งทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทของแข็ง (Solid Dosage Form) ได้

6) โครงการพัฒนาระบบงานขายบนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มการทำงานส่วนงานขายให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อผ่านระบบดังกล่าว

7) โครงการปรับปรุงมาตรฐานการผลิตโดยลงทุนในเครื่องมือควบคุมคุณภาพการผลิตยาแผนปัจจุบัน และ โครงการปรับปรุงสายการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

โดยบริษัทมี 8 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน  ได้แก่ 1. พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ นวัตกรรม และครอบคลุม ยาแผนปัจจุบัน สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 2. ขยายกำลังการผลิต ติดตั้งเครื่องจักรบรรจุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ  3. ขยายทีมเภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ เข้าถึงลูกค้าองค์กรกว้างขวาง 4. สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้บริโภค นำเสนอจุดขายที่แตกต่าง

นายธนัท พลอยดนัย

5. ขยายธุรกิจจัดจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอก นำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลาย ปรับโครงสร้างฝ่ายขาย ขยายทีมขาย  6. ขยายฐานลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาล พัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม 7. ขยายการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์บริษัท อีกทั้งสรรหาผู้จัดจำหน่ายที่มีศักยภาพ 8. ขยายธุรกิจรับจ้างผลิต ใช้ศักยภาพโรงงานมาตรฐานสากล 

สำหรับรายได้จากการขายสินค้า ปี 2564 รายได้รวม 1,259 ล้านบาท กำไรสุทธิ 56.4 ล้านบาท ต่อมาปี 2565 รายได้รวม 2,016  ล้านบาท กำไรสุทธิ 472.5 ล้านบาท และปี 2566  รายได้รวม 1,972 ล้านบาทกำไรสุทธิ 431 ล้านบาท