"บีบีจีไอ" ตั้งโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง แห่งแรกของอาเซียนในไทย

13 พ.ค. 2567 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2567 | 11:26 น.
692

"บีบีจีไอ" ตั้งโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงขนาดใหญ่แห่งแรกของอาเซียนในไทย พร้อมเดินหน้าร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีขยายขนาดการผลิตในกระบวนการทางชีวภาพจากระดับห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบสู่ระดับเชิงพาณิชย์ให้นักวิจัย 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนบริษัท บีบีจีไอ เฟิร์มบ็อกซ์ ไบโอ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มบางจากฯ ทำธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง กับบริษัท เฟิร์มบ็อกซ์ ไบโอ ประเทศอินเดีย 

โดยเชี่ยวชาญด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synbio) และด้านการขยายกำลังการผลิตไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ (Lab-to-launch) เพื่อจัดตั้งโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้เทคโนโลยีการหมักที่แม่นยำ (Precision Fermentation) เพื่อผลิตเซลลูโลซิก เอนไซม์ (Cellulosic Enzyme) สำหรับใช้ในอุตสาหกรรม 

ซึ่งขยายขนาดจากระดับห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบสู่ระดับเชิงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงขนาดใหญ่แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ด้วยกำลังการผลิตในระยะแรก 2 แสนลิตร ประกอบด้วย
 

ถังหมักขนาดใหญ่ 1 แสนลิตร จำนวน 2 ถัง ซึ่งเป็นถังหมักที่มีขนาดใหญ่กว่าอินเดียกว่า 2 เท่า และบริษัทมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตรวมให้ได้ถึง 1 ล้านลิตร ในระยะต่อไป โดยมีเงินลงทุนในระยะแรก 440 ล้านบาท ตั้งที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจะใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่จากในประเทศ

"บีบีจีไอ" ตั้งโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงขนาดใหญ่แห่งแรกอาเซียนในไทย

ทั้งนี้ Cellulosic Enzyme เป็นเอนไซม์ที่ช่วยย่อยและเปลี่ยนเซลลูโลสในชีวมวลเหลือทิ้ง เช่น เศษไม้ ฟางข้าว กากมันสำปะหลัง และชานอ้อย ให้เป็นน้ำตาลกลูโคส ซึ่งสามารถต่อยอดไปผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพได้หลากหลาย เช่น พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ โปรตีนชีวภาพ น้ำมันอากาศยานชีวภาพ (SAF) เป็นต้น 

และบริษัทยังมีแผนขยายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synbio) อื่น ๆ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเสริมสุขภาพ เวชสำอาง และพลังงานในระยะต่อไปด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อขยายขนาดการผลิตในกระบวนการทางชีวภาพจากระดับห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบไปสู่ระดับเชิงพาณิชย์ให้กับนักวิจัยของสถาบันฯ 

“การตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงที่เป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งแรกในอาเซียนในครั้งนี้ เป็นการมองเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงความพร้อมด้านวัตถุดิบ โครงสร้างพื้นฐาน และบุคลากร โครงการดังกล่าวนี้จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมต้นน้ำด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ต่อยอดจากงานวิจัยให้สามารถ scale up สู่ระดับอุตสาหกรรม อีกทั้งมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green หรือ BCG เพื่อมุ่งสู่การเป็น Bio Hub ของภูมิภาคอาเซียน”