นายสุนัย วชิรวราการ นายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธุรกิจเวลเนสฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากผ่านพ้oวิกฤตโควิด-19 และโดยคาดว่าในปี 2567 สถานการณ์ในประเทศไทยเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเทรนด์ที่กำลังมาแรงอย่างเห็นได้ชัดคือ 1.การป้องกันหรือรักษาจากมลภาวะที่ค่อนข้างรุนแรงมากขึ้น 2.การรักษาบำบัดเรื่องการนอนหลับ เริ่มมี sleep clinic เกิดขึ้นหลายแห่ง 3.การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลรักษาสุขภาพที่เห็นผลอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องผ่าตัดหรือทำให้เจ็บตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงได้ดี และ 4.การใช้ AI เก็บข้อมูลเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับแต่ละบุคคล ขณะที่ธุรกิจสปา 3 อันดับแรกที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ การนวด การขัดผิว และทำหน้า
อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมในปี 2566 ยังไม่มีการระบุตัวเลขออกมาชัดเจนว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร แต่มั่นใจว่าจะดีขึ้นจากปี 2565 อย่างแน่นอน เพราะผู้ประกอบการในสมาคมฯ กว่า 200 ราย ต่างมีลูกค้าเพิ่มขึ้น และธุรกิจโดดเด่นจะเป็นด้าน Healthy Eating, Nutrition & Weight Loss ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารสุขภาพและการลดน้ำหนัก ถือว่ามีศักยภาพสูงและทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำของประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก เชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ จะสร้างรายได้และแข่งขันกับประเทศอื่นทั่วโลกได้อีกมาก รวมถึงเรื่อง Wellness Tourism ด้วย ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ จะเด่นในด้าน Beauty and Personal care หรือผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายมากกว่า
“หากพูดถึงธุรกิจเวลเนสในเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทยเรายังคงไล่ตามผู้นำอย่างประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่ในอาเซียนเราเป็นผู้นำ มีคู่แข่งที่น่ากลัวคือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีจุดเด่นค่อนข้างเยอะในเรื่องการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่ยังมีชีวิต รวมถึงเวียดนามที่เริ่มพัฒนาและกระหายในการเรียนรู้เรื่องธุรกิจเวลเนส และตอนนี้มีการลงทุนค่อนข้างเยอะ”
นายสุนัย กล่าวว่า กรมการท่องเที่ยวได้การวางกลยุทธ์ 6 ด้าน ในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 1 โดยต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเวลเนสระดับโลกภายในปี 2570 ได้แก่ 1. พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ และบุคลากร 2. พัฒนาสินค้าและบริการ ให้โดดเด่นมีคุณภาพและแตกต่าง 3. การนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมผู้ประกอบการ เช่นการใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ 4. สร้างการบูรณาการและความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน 5. ส่งเสริมผู้ประกอบการหรือนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น 6. การทำตลาดและการโปรโมทให้เป็นที่รู้จัก
โดยปัจจัยบวกที่ทำประเทศไทยได้เปรียบในการแข่งขันด้านเวลเนสคือ 1.ยังคงเป็นประเทศอันดับต้นในเรื่องของสปาไทย ชาวต่างชาติอยากมาเที่ยวและใช้บริการ 2.มีหลากหลายธุรกิจที่ช่วยส่งเสริม Wellness Tourism ให้ประเทศไทยได้เปรียบสำหรับการแข่งขันในระดับโลก 3.มีความโดดเด่นในเรื่องอาหาร ที่สามารถพัฒนามาหนึ่งในเป็นธุรกิจเวลเนสได้ และ 4.สามารถยกระดับราคาของธุรกิจเวลล์เนสให้สูงขึ้นได้ เพราะอาชีพนี้ในธุรกิจเหล่านี้ต้องใช้ทักษะทั้งศาสตร์และศิลป์ ยกตัวอย่างเช่น การนวดไทย หรือ นวดเท้าที่ราคาเริ่มต้นเพียง 200-300 บาท/ครั้ง ซึ่งหากช่วยกันยกระดับได้จะอาจจะสามารถช่วยปรับราคาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ได้
ส่วนปัจจัยลบที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงคือ การพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักในสัดส่วนรายได้ประมาณ 90% ในมุมมองส่วนตัวอันดับ 1.จีน 2. ตะวันออกกลาง 3.ประเทศในเอเชียและรัสเซีย ถ้ากระตุ้นให้คนไทยใช้จ่ายมากขึ้นใน 10% ที่เหลือจะส่งผลดี ซึ่งอาจจะต้องปรับกลยุทธ์หาโปรดักส์ที่ตอบโจทย์คนไทย
นายสุนัย กล่าวอีกว่า ในปี 2564 เป็นปีที่ธุรกิจเวลเนสของประเทศไทยตกต่ำที่สุดเพราะโควิด-19 คนไทยใช้จ่ายสูงสุดเพียง 392 USD หรือประมาณ 14,000 บาท/คน/ปี แต่ในปี 2565 เพิ่งฟื้นตัวกลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 483 USD หรือประมาณ 17,000 บาท/คน/ปี แต่จะเห็นได้ว่าคนไทยใช้บริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างชาติ หากเพิ่มสัดส่วนของคนไทยได้จะช่วยลดความเสี่ยงเมื่อยามเกิดวิกฤต และสามารถสร้างชีวิตให้คนไทยดีขึ้นได้
จากข้อมูลของสถาบันด้านสุขภาพสากล หรือ Global Wellness Institute (GWI) ปี 2565 ระบุว่า เศรษฐกิจเวลเนส (Wellness Economy) ในประเทศไทย มีมูลค่า 34.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก จาก 218 ประเทศทั่วโลก และอันดับที่ 9 ในระดับภูมิภาค จาก 45 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก นับเป็นปีที่ธุรกิจเวลเนสของประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวกลับมาหลังจากโควิด-19 โดยเฉพาะ Wellness Tourism และ ธุรกิจสปา หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะอาศัยนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งสถานการณ์อยู่ในลักษณะเดียวกันกับอินเดีย ขณะที่ประเทศในโซนยุโรปหรืออเมริกาจะเน้นกลุ่มลูกค้าในประเทศเป็นหลักสูงถึง 90% สถานการณ์ปัจจุบันจึงดีกว่าประเทศไทย
ยังมีประเด็นเรื่องแรงงานที่ยังขาดแคลน โดยเฉพาะแรงงานคุณภาพในธุรกิจสปาที่ค่อนข้างหายาก ซึ่งได้พูดคุยกับกระทรวงแรงงานรวมทั้งผู้นำใน 4 อาชีพ ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสปา ธุรกิจขับรถนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ คาดว่าแรงงานในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ยังขาดแคลนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคน หากมีข้อมูลของคนทำงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างเป็นระบบ แล้วนำมาพัฒนาคุณภาพและอบอบรมความรู้ให้กับแรงงานจะช่วยยกระดับธุรกิจเวลเนสได้มากขึ้น เพราะเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันสมาชิกสมาคมฯ มีทั้งผู้ประกอบการและยังมีบุคลากรทางการแพทย์ราว 15 - 20% จากคลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาล รวมถึงสมาชิกจากต่างประเทศบางส่วน เช่น ฮ่องกง นอร์เวย์ ที่สนใจสปาไทยหรือการนวดแผนไทย
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะเดินหน้าตามแผนพัฒนา Wellness Tourism ในอีก 3-5 ปี ให้มีเอกลักษณ์และความแตกต่างมากขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงและส่งเสริมสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น และธุรกิจสปาเพื่อความผ่อนคลายจะขยับตัวไปเป็นเวลเนสมากขึ้นเช่นกัน เช่น การให้วิตามินทางเส้นเลือด และอีกอย่างที่ต้องคำนึงถึงในอนาคตคือประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายโดยตรงเกี่ยวกับ Medical Spa หรือ สปาทางการแพทย์ และ Wellness Center หากผู้ประกอบการจะทำทั้ง 2 อย่างต้องไปจดทะเบียนในรูปแบบของคลินิกเวชกรรม ฉะนั้นจึงเป็นข้อจำกัดในการทำธุรกิจอยู่
“ทางสมาคมฯหวังว่ายุทธศาสตร์ 6 ด้าน ของกรมการท่องเที่ยวจะมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เพราะยุคนี้เป็นยุคของการทำธุรกิจที่ต้องปรับตัวเร็ว หากแก้ปัญาได้เร็วขึ้นและภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องดาต้าที่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก จะช่วยสร้าหลักสูตรการพัฒนาคนได้อย่างตรงจุด พัฒนากลยุทธ์ในธุรกิจเวลเนสได้ดีในอนาคต”