‘สปาไทย’ สะดุดยาว ไทย-ต่างชาติไร้แรงซื้อ

26 ก.ย. 2565 | 05:46 น.
1.4 k

“สปาไทย” ไร้แววฟื้นตัว เหตุท่องเที่ยวยังทรุด ทัวริสต์น้อย-พนักงานขาดแคลน ผู้ประกอบการปรับทัพ เปิดโซนพิเศษรับ Workcation ควบคู่ สปา ไฮบริด แนะรัฐเปิดช่อง เทอราปิส เดลิเวอรี เพิ่มทางรอดสปาไทย

ก่อนโควิด-19 อุตสาหกรรมสปาทั่วโลกมีการเติบโตกว่า 8.7% ต่อปี มีรายได้รวม 1.11 แสนล้านดอลลาร์ในสปา 165,714 แห่งทั่วโลก ขณะที่มูลค่าตลาดสปาและเวลเนสของไทยมีมูลค่าราว 3.5 หมื่น ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5-7% ต่อปี แต่หลังจากการเข้ามาของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมสปาและนวดแผนไทย จากเดิมที่มีธุรกิจสปากว่า 9,000 แห่ง ปิดตัวลงไปราว 30% เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

 

แม้ภายหลัง รัฐบาลได้ผ่อนคลายการควบคุมการแพร่ระบาด แต่กิจการยังคงไม่กลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ จากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ลดลง โดยมีการคาดการณ์ว่า ธุรกิจ “สปา” ทั่วโลกจะกลับมาเติบโตสูงขึ้น 17% และมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ราว 1.5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2568

              

นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” การบาดเจ็บครั้งนี้ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวบริการสาหัสมาก เป็นเวลากว่า 2 ปีที่ไม่มีนักท่องเที่ยวทำให้ธุรกิจที่ไม่มีสายป่านยาวเพียงพอต้องปิดกิจการไป โดยเฉพาะธุรกิจสปาและนวดเพื่อสุขภาพ ความเจ็บสาหัสครั้งนี้ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการ แต่รวมไปถึงลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและหันไปทำอาชีพอื่นที่มองว่ามีความมั่นคงมากกว่า

‘สปาไทย’ สะดุดยาว ไทย-ต่างชาติไร้แรงซื้อ               

“ในอดีตเราเคยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศจำนวนมาก แต่วันนี้เหลือแค่ 5 แสนคนต่อเดือนและเรายังไม่แน่ใจตัวเลขนักท่องเที่ยวหลังจากเปิดประเทศมาได้ไม่กี่เดือนว่าจะเป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลคาดไว้คือ 10 ล้านคนหรือไม่ และเมื่อก่อนเรามีสถานให้บริการสปาและนวดไทยที่จดทะเบียนประมาณ 1.2 หมื่นราย และจำนวนพนักงานเทอราปีสที่ขึ้นทะเบียนกว่า 1.8 แสนคน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่ามีสถานบริการและเทอราปีสในระบบหลือเท่าไร

 

เพราะฉะนั้นยังไม่เพียงพอที่เราจะกล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะธุรกิจด้านสปาหรือร้านนวดสุขภาพกลับมาแล้ว เรามองว่าปีหน้าเต็มที่คือไตรมาสที่ 4 ถึงจะสามารถพูดได้ว่าเราเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าธุรกิจสปาและนวดไทยจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่”

              

ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศเองยังไม่ได้รับการยืนยันตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีคนไทยเข้ารับบริการเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ แแต่เชื่อว่าความรู้สึกของคนที่โหยหาการผ่อนคลายการนวดต่างๆยังมีมาก แต่ประเด็นสำคัญคือหลังจากประสบกับโควิดจำนวนพนักงานหรือเทอราปีสเพียงพอหรือไม่

 

หรือสถานบริการที่ปิดตัวไปสามารถกลับเข้าสู่ระบบของอุตสาหกรรมได้เป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากลัวมากกว่า ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานที่ยังเหลืออยู่ด้วยการอัพสกิล เช่นจากพนักงานนวดธรรมดาให้กลายเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของ wellness มากขึ้น

              

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องหาวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนเดิมและมีจำนวนน้อยลง แต่มี quality มากขึ้นโดยปรับคุณภาพของบริการให้ดีพอกับคุณภาพของนักท่องเที่ยวด้วย เช่น การท่องเที่ยวแบบ vacation ที่เปลี่ยนเป็น workcation สถานประกอบการสปา ร้านนวด ร้านนวดเท้าบางที่มีการปรับรูปแบบการให้บริการให้มีพื้นที่สำหรับการทำงานได้มากขึ้น มีโต๊ะพิเศษขึ้นมาเพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถทำงานในขณะที่ผ่อนคลายไปด้วย

              

“สิ่งที่เราอยากจะเน้นย้ำคือเรื่องของนวัตกรรมเพราะผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปและดิจิตอลที่เข้ามา ถ้าสำรวจตลาดจะเห็นการให้บริการด้านนวดสปาสามารถทำผ่านโลกออนไลน์และเข้าถึงผู้บริโภคตามจุดต่างๆได้ หรือการทำเดลิเวอรี แต่ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเซนซิทีฟ เพราะการเปิดบริการในลักษณะนี้มีคนทำกันเยอะและการทำผิดกฎหมายยังมีอยู่

 

รัฐต้องหามาตรการในการดูแลกำกับในเรื่องของความปลอดภัยทั้งตัวผู้ให้บริการและผู้รับบริการผู้ประกอบการเองจะต้องทำธุรกิจในลักษณะของไฮบริด คือต้องสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ด้วยหรือหาจุดขายเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าออฟไลน์ก็มีคุณค่า มีสถานที่ที่สามารถหาทั้งความผ่อนคลายและทำงานได้ด้วย รัฐเองก็ต้องเข้ามาช่วยกันพิจารณากฎระเบียบต่างๆสามารถที่ปรับจูนให้เข้ากับสถานการณ์ของโลกปัจจุบันได้ด้วย”

‘สปาไทย’ สะดุดยาว ไทย-ต่างชาติไร้แรงซื้อ               

ด้านนายพัฒนพงศ์ รานุรักษ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Divana Spa กล่าวว่า หลังเกิดโควิดแลนด์สเคปเชิงสุขภาพมีความเปลี่ยนไปแรงขึ้นและเร็วขึ้น สำหรับ Divana ปัจจุบันมีลูกค้าจะกลับเข้ามาใช้บริการ 40-50% จากสถานการณ์ปกติ แต่โดยรวมกราฟยังพุ่งขึ้น นั่นหมายความว่า Divana กำลังบริหารธุรกิจขาขึ้นหลังจากที่อยู่ในช่วงขาลงมา 3 ปี

              

“ปรับกลยุทธ์หลายอย่างเพราะเจอความท้าทายหลายด้านเช่นวัตถุดิบแพงขึ้นแต่ลูกค้าไม่มีกำลังซื้อ เราต้องการเพิ่มพื้นที่และขยายสาขาแต่ไม่มีพนักงาน เพราะในช่วงโควิดพนักงานออกไปทำอย่างอื่นกันเยอะ แม้กระทั่งตอนนี้พนักงานเองก็ยังไม่มีความมั่นใจ 100% ว่ากลับมาแล้วจะไม่ต้องหยุดไปอีก จึงต้องมีการเทรนนิ่งและรีสกิลใหม่ ก็เหมือนกับต้องเริ่มธุรกิจใหม่ทั้งหมด

              

ขณะที่นายธเนศ จิระเสวกดิลก ผู้ก่อตั้งและหนึ่งในหุ้นส่วน Divana Spa กล่าวเสริมว่า ในช่วงโควิดเราได้รับผลกระทบไม่น้อย ธุรกิจสปาเป็นธุรกิจแรกที่ถูกให้สั่งปิดและเป็นธุรกิจเกือบสุดท้ายที่ถูกให้สั่งเปิด เพราะฉะนั้นเราได้รับผลกระทบมาก ปิดบริการทั้งหมด ลูกค้ากลุ่มหลักซึ่งเป็นต่างชาติก็ต้องสลับกลับมาเป็นคนไทย ลูกค้าที่เป็นออฟไลน์แล้วก็ปรับมาเป็นออนไลน์ แต่การที่เรามีแบรนด์ทั้ง Divana ที่เน้นรับนักท่องเที่ยวและ DII ที่เน้นลูกค้าคนไทยรวมทั้งธุรกิจอาหารเสริมและ delivery treatment ที่เน้น sensory ที่เกิดขึ้นมาในช่วงโควิดก็ช่วยพยุงรายได้ในระดับหนึ่ง

‘สปาไทย’ สะดุดยาว ไทย-ต่างชาติไร้แรงซื้อ               

เราเชื่อว่าเทรนด์สุขภาพการนวดและสปา กำลังมาและเราเองเติบโตในส่วนนี้มานาน เราอยากให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้เติบโตไปด้วยกัน การที่มีผู้เล่นใหม่ๆเข้ามาในตลาดเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้ ecosystem แข็งแรงทำให้แต่ละแบรนด์แข่งขันและฝึกฝนตัวเอง แต่ละแบรนด์มีทาร์เก็ตของเขาอยู่แล้วและเป้าหมายของคนทั้งโลกต้องการในเรื่องของสุขภาพและความสุข เพราะฉะนั้นเราต้องมาดูว่าคุณค่าของแบรนด์สามารถตอบโจทย์ในด้านไหนได้บ้าง

 

สำหรับ Divana เน้นในเรื่องของ holistic เราสามารถทำสปา คลินิก ออกแบบ sensory ออกแบบคลาสต่างๆและเติมเต็มกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้เราแตกต่างและโดดเด่นพอเราไปเซิร์ฟกลุ่มลูกค้าที่ชอบตรงนี้ก็จะเกิดความตรงใจ เราไม่ได้มาแข่งกันเองเพื่อแย่งลูกค้าคนไทยแต่เราต้องการปักหมุดว่าเราเป็น global wellness destination ของคนทั้งโลกถ้าเราปักหมุดตัวนี้ได้ดีมานด์จะมีมหาศาล แต่เราต้องอาศัยความร่วมมือของพาร์ทเนอร์ และทุกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมรวมทั้งนอกอุตสาหกรรมทั้งโรงพยาบาลหรือโรงแรมเพื่อให้เวลเนสไทยมีมิติที่แข็งแรงและชัดเจนในเรื่องของ signature หรือลายเซ็นของประเทศไทยให้มันชัดเจน”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,821 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2565