หมอชลน่าน เดินหน้า "หมอออนไลน์" เชื่อมข้อมูลรพ.ทุกระดับช่วยผู้ป่วยทั่วปท.

15 ม.ค. 2567 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2567 | 16:00 น.

"หมอชลน่าน" เผยความสำเร็จ รพ.ราชวิถี ยกระดับบัตร 30 บาทเดินหน้า "หมอออนไลน์" ให้บริการกว่า 1,700 ราย มุ่งเชื่อมโยงข้อมูลโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคทุกระดับช่วยผู้ป่วยยุ่งยากซับซ้อนทั่วประเทศ

15 มกราคม 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงพยาบาลราชวิถี พร้อมให้สัมภาษณ์ถึงผลสำเร็จการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข โดยมี พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี และคณะผู้บริหารเข้าร่วม

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โรงพยาบาลราชวิถี เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมาย Quick Win 100 วัน ภายใต้นโยบาย "ยกระดับ 30 บาท" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการและคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีผลสำเร็จใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 

หมอชลน่าน เดินหน้า \"หมอออนไลน์\" เชื่อมข้อมูลรพ.ทุกระดับช่วยผู้ป่วยทั่วปท.

1.ดิจิทัลสุขภาพ

ให้บริการ Virtual Hospital ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ทุกที่ สะดวกสบาย ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง ด้วยบริการครบวงจรเหมือนเข้ารับบริการในโรงพยาบาลจริง พูดคุยตอบโต้กับแพทย์ได้แบบ Real-time

สามารถเจาะเลือดที่บ้านหรือใกล้บ้าน ชำระเงินออนไลน์ เบิกจ่ายตามสิทธิ รับยาทางไปรษณีย์ ให้บริการทั้งผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าที่เข้าเงื่อนไข เช่น 

ผู้ป่วยมีอาการคงที่ ไม่เร่งด่วน ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง สามารถพูดคุยกับหมอผ่านระบบออนไลน์ได้ มีผู้เข้ารับบริการแล้วมากกว่า 1,700 ราย และยังมีฐานข้อมูล Digital Medical Services ที่เชื่อมโยงข้อมูลโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคทุกระดับเข้ากับโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์

ให้การปรึกษาดูแลผู้ป่วยที่มีความยุ่งยากซับซ้อนผ่านระบบ Teleconsult และส่งข้อมูลให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ล่วงหน้า ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อมายังโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว

หมอชลน่าน เดินหน้า \"หมอออนไลน์\" เชื่อมข้อมูลรพ.ทุกระดับช่วยผู้ป่วยทั่วปท.  

2.เปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร

ส่งเสริมการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน เน้นตรวจคัดกรองคู่รักอย่างครอบคลุม และดูแลเฉพาะราย ให้บริการแล้ว 47 คู่ พบความผิดปกติและส่งเข้ารักษาภาวะมีบุตรยาก 12 คู่ ซึ่งมีตั้งแต่การฉีดน้ำอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก การทำเด็กหลอดแก้ว และการทำอิ๊กซี่ 

3.การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร ด้วย Care D+ Team ลดช่องว่างการสื่อสารระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ โดยให้บริการมากกว่า 4,000 ราย/วัน ส่วนใหญ่ 80% เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการรับบริการ ซึ่งพบว่า ผู้รับบริการมีความพึงพอใจในระดับดีมาก และได้รับคำชมเชยเพิ่มขึ้น 47% 

4.การจัดตั้งโรงพยาบาล ประจำเขตดอนเมือง ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) ซึ่งเป็นบริการร่วมระหว่าง โรงพยาบาลราชวิถี 2 และ โรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน)

ปัจจุบันเปิดให้บริการหอผู้ป่วยใน 84 เตียง แผนกฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ทำให้มีอัตราเตียงรองรับผู้ป่วยพื้นที่เขตดอนเมือง เพิ่มขึ้นจาก 0.78/1,000 ประชากร เป็น 1.62/1,000 ประชากร

หมอชลน่าน เดินหน้า \"หมอออนไลน์\" เชื่อมข้อมูลรพ.ทุกระดับช่วยผู้ป่วยทั่วปท.