“30 บาทพลัส” รักษาทุกที่ โจทย์ใหญ่ในมือ “หมอชลน่าน”

11 ม.ค. 2567 | 04:00 น.

นโยบายเร่งด่วน “Quick Win ยกระดับบัตรทอง 30 บาท” จาก “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค” สู่ “30 บาทรักษาทุกที่” หรือ “30 บาทพลัส” เริ่มต้นขึ้นแล้ว ภายใต้การนำทัพของนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

การเข้ามาสานต่อนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ได้หาเสียงไว้โดยชูนโยบาย “ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค” ที่ทางพรรคไทยรักไทยได้เริ่มต้นไว้เมื่อ 22 ปีที่แล้วนั้น กลายเป็นความท้าทายโจทย์ใหญ่ในมือของ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566

“หมอชลน่าน” ได้ประกาศนโยบายเร่งด่วน “Quick Win ยกระดับบัตรทอง 30 บาท” ทันที พร้อมตั้งเป้าจะต้องดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 100 วัน ดูแลคนไทยให้ได้รับสิทธิการรักษาขั้นพื้นฐานที่ดีขึ้น ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการแบบใกล้บ้านไม่ต้องเดินทางไกล สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่โดยเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั้งหมดเข้าด้วยกัน รวมถึงการยกระดับการรักษาให้ได้มาตรฐานเดียวทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ บัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ฯลฯ ซึ่งได้ครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

วันนี้จาก “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค” สู่ “30 บาทรักษาทุกที่” หรือ “30 บาทพลัส” เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยมีการกำหนดเป้าหมาย แนวทางการพัฒนา ตลอดจนกิจกรรมพร้อมตัวชี้วัดระยะ 100 วัน รวมถึงแผนงานในปีงบประมาณ 2567 ตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่

1. การให้บริการกับประชาชนโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส มีประชาชนขึ้นทะเบียนแล้ว 583,159 คน จากเป้าหมายตัวชี้วัดระยะต้น “บัตรประชาชนรักษาทุกที่ 4 จังหวัดนำร่อง” เป้าหมายตัวชี้วัดระยะต่อไป “ร้อยละ 100 โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เชื่อมโยงข้อมูลระเบียนสุขภาพส่วนบุคคลและส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์ภายใน 12 เขตสุขภาพ”

2. โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) อยู่ระหว่างการประเมินโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับเงิน จากเป้าหมายตัวชี้วัดระยะต้นเป็นโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขผ่านเกณฑ์การประเมินระดับเงิน จำนวน 200 แห่ง และเป้าหมายตัวชี้วัดระยะต่อไป ระดับเงิน ร้อยละ 50 จำนวน 450 แห่ง

“30 บาทพลัส” รักษาทุกที่ โจทย์ใหญ่ในมือ “หมอชลน่าน”

3. การพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ มีการนัดหมอจากบ้าน นัดคิวออนไลน์และบริการ Telehealth ตรวจเลือด และรับยาใกล้บ้าน ดำเนินการได้ 75 โรงพยาบาล/75จังหวัด และมีการดำเนินการปรับปรุงแอปพลิเคชั่น Smart อสม.จากเป้าหมายตัวชี้วัดระยะต้น นัดหมาย พบแพทย์ ตรวจเลือด รับยาใกล้บ้าน 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล

เป้าหมายตัวชี้วัดระยะต่อไป รับบริการสาธารณสุขทางไกล Telehealth รับบริการตรวจเลือดใกล้บ้าน (LAB นอกหน่วยบริการ) รับบริการจัดส่งยาเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์ไปยังผู้ป่วยที่บ้านและอสม. มีศักยภาพในการจัดบริการปฐมภูมิขั้นพื้นฐานโดยใช้เทคโนโลยีร้อยละ 65

4. พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย โรงพยาบาลระดับ A เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ ได้ดำเนินการอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างเหมาบริการ CT Scan แล้ว 9 เครื่อง จากเป้าหมายตัวชี้วัดระยะต้น โรงพยาบาลระดับ A จัดซื้อจัดจ้างเหมาบริการ CT Scan จำนวน 12 เครื่อง สำหรับเป้าหมายตัวชี้วัดระยะต่อไป จะอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างเหมาบริการ CT Scan ร้อยละ 100

5. การจัดตั้งโรงพยาบาลกรุงเทพมหานคร 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล เป้าหมายตัวชี้วัดระยะต้น จัดตั้งโรงพยาบาล 120 เตียง ในเขตดอนเมืองและอำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ เป้าหมายระยะต่อไปโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิในเขตกรุงเทพมหานคร เริ่มรับผู้ป่วยในได้ 25 เตียง เป็นต้น

6. สถานชีวาภิบาล เปิดดำเนินการ 137 แห่ง ใน 44 จังหวัด จากเป้าหมายตัวชี้วัดระยะต้น จัดตั้งสถานชีวาภิบาล จังหวัดละ 1 แห่ง จำนวน 76 จังหวัด ให้ได้ร้อยละ 80 เป้าหมายตัดชี้วัดระยะต่อไป จัดตั้งสถานชีวาภิบาลจังหวัดละ 1 แห่ง จัดตั้ง Hospital at Home/ Home ward จังหวัดละ 1 แห่ง และมีคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทุกระดับ

7. การจัดบริการมะเร็งครบวงจร ผลการดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ในหญิงอายุ 11-20 ปี จากเป้าหมายตัวชี้วัดระยะต้น หญิงอายุ 11-20 ปี จำนวน 1 ล้านโดส เป้าหมายตัวชี้วัดระยะต่อไป หญิงอายุ 11-20 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น

เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของการเริ่มต้นของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การนำทัพของ “นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว” รมว.สาธารณสุข รัฐบาลเศรษฐา 1 เท่านั้น หลังจากนี้ไปต้องรอดูและเกาะติดการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขกันต่อไปว่า จะตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้มากน้อยเพียงไร เมื่อต้องรองรับภัยสุขภาพของประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปัญหาสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน