รพ.เอกชน รายได้-กำไรพุ่ง สยายปีกลงทุนศูนย์เฉพาะทางเพิ่ม

18 พ.ย. 2566 | 11:40 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2566 | 11:44 น.

รพ.เอกชน โชว์ผลประกอบการไตรมาส 3 โกยกำไรถ้วนหน้า พร้อมเดินหน้าไตรมาส 4 สยายปีกลงทุนต่อเนื่องไปยังปี 67 จับตาผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว-สงครามฉุดคนไข้ต่างชาติลด

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายทยอยปรับฐานสู่ภาวะการณ์ปกติ ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลกลับมาเดินหน้าภายใต้การให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคต่างๆ ทั้งโรคเรื้อรังและโรคไม่เรื้อรัง รวมถึงโรคตามฤดูกาล ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลถูกจับตามองว่า จะเป็นอย่างไร สามารถปรับตัวและสร้างรายได้ให้กลับมาหรือไม่ ซึ่งผลประกอบการในไตรมาส 3 พบว่า ทุกโรงพยาบาลต่างมีรายได้สูงขึ้นและมีกำไรเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน

นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจสุขภาพในนาม เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ที่ผ่านมาถือว่าปรับตัวที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี โดยมีรายได้รวม 1,621.8 ล้านบาท สูงขึ้น 8.4% จากธุรกิจการให้บริการทางการแพทย์ มีรายได้ 1,479.6 ล้านบาท สูงขึ้น 8.3%

นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล

โดยเป็นรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 สูงขึ้นจากทุกโรงพยาบาลประมาณ 38.9% มีกำไร 32 ล้านบาทปัจจัยหลักมาจากคนไข้จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว, กัมพูชา ที่กลับมาใช้บริการในโรงพยาบาลที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้นกว่า 315% ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีรายได้ 142.1 ล้านบาท สูงขึ้น 9.6% จากมาตรการวีซ่าฟรีและภาพรวมจำนวนท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน นอกจากไข้หวัดตามฤดูกาลแล้ว ยังมีโรคระบาดที่เกิดขึ้น ทั้งในเด็ก เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ RSV ไข้หวัดใหญ่ และโรคระบาดในผู้ใหญ่ เช่น ใข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B และโรคไข้เลือดออก ทำให้โรงพยาบาลในเครือบริหารจัดการบุคลากรการแพทย์เพื่อรองรับสถานการณ์ทันท่วงที่ พร้อมกับการปรับโครงสร้างองค์กรและนโยบายบริษัทที่สามารถควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้รายได้รวมขยับเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายธุรกิจทั้งในธุรกิจโรงพยาบาล คลินิกเสริมความงาม และธุรกิจเฮลท์แคร์

ด้านแผนการขยายธุรกิจโรงพยาบาล 20 แห่ง จากปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 15 แห่ง เปิดดำเนินการแล้ว 14 แห่งใน 11 จังหวัด ล่าสุด เตรียมขยายโรงพยาบาล จ. มุกดาหาร ขนาด 59 เตียง พร้อมขยายศูนย์การแพทย์เฉพาะทางรักษาโรคยากซับซ้อน ปักหมุดภาคอีสานรองรับผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านทั้ง สปป.ลาว และกัมพูชา เชื่อมโยงโรงพยาบาลในเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว 3 แห่ง ได้แก่ รพ.พริ้นซ์ อุบลราชธานี รพ.พริ้นซ์ ศรีสะเกษ และรพ.พริ้นซ์ สกลนคร คาดว่าจะก่อสร้างและเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567

รพ.เอกชน รายได้-กำไรพุ่ง สยายปีกลงทุนศูนย์เฉพาะทางเพิ่ม

“รพ.พริ้นซ์ ศรีสะเกษ มีแผนขยายลงทุนศูนย์รักษามะเร็ง (Cancer Center) แห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัด มูลค่ารวม 250 ล้านบาท ขณะที่ รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เปิดให้บริการ ศูนย์วินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด (CathLab) และศูนย์ศัลยกรรมความงาม (Plastic Surgery) รพ.วิรัชศิลป์ จ.ชุมพร และรพ.พิษณุเวช อุตรดิตถ์ เตรียมเปิดให้บริการผ่าตัดเส้นเลือดฟอกไต (AVF) ฯลฯ”

ส่วนการขยายธุรกิจด้านเฮลท์แคร์ บริษัทมีการเข้าลงทุนผิวดีคลินิกเพิ่มขึ้น และควบรวมกับพงศ์ศักดิ์คลินิก ซึ่งจะส่งผลให้ขยายฐานผู้รับบริการและมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นและรับรู้รายได้ทันทีในไตรมาส 4 ปี 66 พร้อมมีแผนที่จะเปิดตัวแบรนด์ใหม่เร็วๆนี้ ขณะเดียวกันมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินธุรกิจโดยตั้งบริษัท พริ้นซิเพิล เน็กส์ จำกัด (PNEXT) ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท รองรับการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและเฮลท์แคร์ เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุแบบระยะยาว, การรักษาผู้มีบุตรยาก ฯลฯ ซึ่งแผนการเข้าลงทุนคาดมีความชัดเจนในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 นี้

รพ.เอกชน รายได้-กำไรพุ่ง สยายปีกลงทุนศูนย์เฉพาะทางเพิ่ม

ด้านแพทย์หญิง ชุติมา ปิ่นเจริญ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG กล่าวว่า ผลประกอบการในไตรมาส 3/2566 บริษัทมีรายได้ 2,092.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% กำไรสุทธิ 325.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% มาจากกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป เพิ่มขึ้น 8% ส่วนรายได้โครงการประกันสังคม เพิ่มขึ้น 8% เช่นกัน ทำให้ผลประกอบการงวด 9 เดือนปี 2566 มีรายได้รวมเป็น 5,607.6 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 772.2 ล้านบาท

“ไตรมาส 3/2566 บริษัทมีรายได้ที่เติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง จากการปรับการบริการกลับเข้าสู่ฐานเดิมก่อนสถานการณ์โควิด-19 การขยายขอบเขตให้บริการของโรงพยาบาล แห่งใหม่ การเข้าซื้อกิจการดูแลผู้สูงอายุจากช่วงปลายไตรมาสก่อนหน้าที่ผ่านมา รวมถึงการขยายการให้บริการและเพิ่มศักยภาพการรักษาของสถานพยาบาลเดิม ส่งผลให้ทั้งผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/2566 คาดว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานมีทิศทางที่สดใส จากผลการดำเนินงานจากโครงการต่างๆ ทั้งการรับรู้รายได้จากการเบิกจ่ายประกันสังคมที่เข้ามาเพิ่มเติม การเปิดให้บริการโรงพยาบาลจุฬารัตน์แม่สอด อินเตอร์ จ.ตาก รองรับการให้บริการกับกลุ่มผู้ป่วยทั้งคนไทยในพื้นที่ พื้นที่ใกล้เคียง และชาวต่างชาติ

ตลอดจนการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดให้บริการศูนย์การแพทย์ Chularat Medical Center (ศูนย์มะเร็งครบวงจรแห่งแรก ในจังหวัดสมุทรปราการ, ศูนย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์, ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง, ศูนย์รักษาแผลเรื้อรัง, ศูนย์บำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง) ที่เข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดีในปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้ 8,000 ล้านบาท เติบโต 20% จากปีก่อนตามเป้าหมายที่วางไว้

ด้านนายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ THG ในไตรมาส 3/2566 มีรายได้รวม 2,725 ล้านบาท กำไรสุทธิ 356 ล้านบาท ซึ่งหากไม่นับรวมรายได้ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 พบว่ารายได้เฉพาะในส่วนธุรกิจให้บริการทางการแพทย์เติบโตเพิ่มขึ้น ประกอบกับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพก็ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2% ด้านภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2566 ของ THG มีรายได้รวม 7,748 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 757 ล้านบาท โดยยังคงอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายที่วางไว้

รพ.เอกชน รายได้-กำไรพุ่ง สยายปีกลงทุนศูนย์เฉพาะทางเพิ่ม

อย่างไรก็ดี แนวโน้มไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าธุรกิจโรงพยาบาลจะยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลในระดับทุติยภูมิทั้งในกรุงเทพฯและในส่วนภูมิภาค ซึ่ง THG ได้นำเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพด้านบริการและความสะดวกในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น อาทิ บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด ในเครือ THG ได้เปิดตัว “แอปพลิเคชัน Prompt Care” ที่สามารถให้คำปรึกษาออนไลน์ด้านสุขภาพ

ทั้งเรื่อง 1.Tele-Medicine สำหรับตรวจรักษาโรคทั่วไป โดยมีทีมแพทย์เฉพาะทางของ THG 16 สาขา อาทิ อายุรกรรม ศัลยกรรม ระบบช่องท้อง สูตินรีเวช กุมารเวช ทางเดินอาหาร มะเร็ง ฯลฯ คอยให้บริการ 2.Tele-wellness ที่ปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เช่น ออกแบบและให้แนะนำเกี่ยวกับวิตามินที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล จัดส่งถึงบ้านโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 3.การปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ ก็พบว่ามีผลตอบรับที่ดี

อย่างไรก็ดี แนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังต้องจับตาดูต่อไปเมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผนวกสงครามที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อกำลังซื้อ และความสะดวกในการเดินทางเข้ามาใช้บริการของคนไข้ต่างชาติในปีหน้าหรือไม่

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,941 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566