รพ.เอกชน พาเหรด ลงทุนเพิ่ม รับลูกค้าไทย-ต่างชาติเพิ่ม

06 ม.ค. 2566 | 18:34 น.
889

โรงพยาบาลเอกชนพาเหรดลงทุนเพิ่ม เตรียมรับทรัพย์รับปี 2566 ชี้อนาคตสดใส หลังดีมานด์รักษาโรคทั่วไปพุ่ง หลังอั้นมา 2 ปีเต็มจากพิษโควิด ผนวกแรงหนุนการเปิดประเทศ Medical Tourism ดึงคนไข้ต่างชาติแห่ใช้บริการเพิ่ม ส่งผลภาพรวมเติบโตเฉียด 20%

ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS คาดการณ์ว่า ภาพรวมรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2565 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2564 จากอานิสงส์การรับรักษาคนไข้ติดเชื้อโควิด-19 และโรคปกติมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการเปิดประเทศที่ทำให้รายได้จากคนไข้ต่างชาติทยอยฟื้นตัว โดยมีโอกาสขยายตัว 42.5% จากกลุ่มลูกค้าคนไข้ชาวไทย และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง 19.8% ในปี 2566 จากการฟื้นตัวของ Medical Tourism

              

โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าคนไข้ชาวต่างชาติจากอาเซียน จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง ที่เชื่อมั่นในคุณภาพการรักษา ค่ารักษาพยาบาลและค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน มาตรฐานและบริการที่ดี กอปรกับความต้องการการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนคนไข้และอัตราการเจ็บป่วยที่สูงขึ้น ทั้งจากวิถีการดำเนินชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค สังคมผู้สูงอายุ และการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น

              

อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 เทคโนโลยีด้านสุขภาพ หรือ Health Tech ได้เข้ามามีบทบาทด้านการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine หรือ Telehealth ซึ่งปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้เพื่อเสริมศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล

รพ.เอกชน พาเหรด ลงทุนเพิ่ม รับลูกค้าไทย-ต่างชาติเพิ่ม

แต่ในระยะถัดไปการแพทย์ทางไกลอาจจะถูกนำมาให้บริการในรูปแบบ Telehealth Kiosks ตามห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์ราชการต่างๆจากการร่วมมือของหน่วยงานรัฐ หรือผู้ประกอบการกลุ่ม Health Tech กับค่ายมือถือ แม้ว่าจะยังไม่สามารถแทนที่โรงพยาบาลได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ถือว่าเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามอง

 

นายแพทย์พีรพัฒน์ ต่างใจ ผู้อำนวยการพานาซี ที่ปรึกษาฝ่ายการแพทย์ บริษัท ณุศาศิริ จำกัด มหาชน ผู้บริหารโรงพยาบาลพานาซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2566 โรงพยาบาลพานาซี ตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตราว 20% จากปี 2565 โดยคาดว่ารายได้ของกลุ่มเมดิคอลไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท และอีกส่วนจะเป็นรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น ATK อาหารเสริมและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เข้ามาเพิ่ม

              

สำหรับปี 2565 ถือเป็นปีที่พานาซีทำผลงานได้ดี เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ควบคู่ไปกับความพยายามขยายธุรกิจเพิ่มเติมเพื่อรองรับตลาดสุขภาพที่คาดว่าจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตค่อนข้างเยอะ ทำให้รายได้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และมีการลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับอนาคต

นายแพทย์พีรพัฒน์ ต่างใจ

อาทิ การสร้าง Lab เพาะเลี้ยงวิจัยและเก็บสเต็มเซลล์, การลงทุนพัฒนาระบบเทเลเมดิซีนเพื่อทำให้คนเข้าถึงการแพทย์ได้ง่ายขึ้นทั้งกลุ่มทั่วไป กลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะต่อยอดขึ้นมาจากเทคโนโลยีเซลล์บำบัด ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์

              

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนด้าน “กรีนเมดิซีน” ซึ่งจะเป็นการพัฒนาแพทย์แผนไทยและพัฒนายาสมุนไพรต่างๆ ให้มีนวัตกรรมโดยใช้การวิจัยและพัฒนาเข้ามาตอบโจทย์เพื่อใช้เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนธุรกิจและทำให้การดูแลสุขภาพมีความแตกต่างและปลอดภัยมากขึ้น

              

อย่างไรก็ดี ในปี 2566 เชื่อว่าธุรกิจต่างๆเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้น กอปรกับคนหันมาใส่ใจสุขภาพ เพราะฉะนั้นไม่ว่าอย่างไร ธุรกิจสุขภาพก็จะเป็นธุรกิจที่เติบโตอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใหม่หรือรัฐบาลเก่านโยบายก็จะคล้ายๆกันก็คือส่งเสริม medical tourism เพราะฉะนั้นจุดนี้ก็จะเป็นจุดที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเติบโตมากขึ้น

              

 

ด้านนายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งเกิดการระบาดของโควิด ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ปกติทำให้มีผู้ที่ได้ประโยชน์และคนที่เสียประโยชน์

 

โดยโรงพยาบาลที่รับตรวจและรักษาจะได้รับประโยชน์และแม้ว่าปี 2566 จะมีแนวโน้มที่ลดลงก็ตามที แต่การกลายพันธุ์และเชื้อยังไม่หมดไปจากโลกนี้ คนไข้โควิดก็ยังคงมีอยู่ แต่โรงพยาบาลที่ไม่ได้รับเคสโควิดจะได้รับผลกระทบจากโควิดพอสมควรเพราะคนไข้ต่างจังหวัดและคนไข้ต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามารับการรักษาได้

นายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล               

ทั้งนี้โรงพยาบาลเอส สไปน์ฯ มีแผนลงทุนเพิ่มขึ้นในการสร้างตึกใหม่จำนวน 3 ตึกเพื่อเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง รองรับการเติบโตที่ดีขึ้นมากหลังจากโควิดหายไปและกลายเป็นโรคประจำถิ่นคนไข้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30%

              
“ในระยะหลังมีการเกิดขึ้นใหม่ของโรงพยาบาลเฉพาะทางมากขึ้น เพราะคนต้องการการรักษาเฉพาะเจาะจงมากขึ้นในประเทศและต่างประเทศ แต่การทำโรงพยาบาลเฉพาะทางไม่ใช่สามารถทำได้ง่ายๆ เพราะทำยากกว่าโรงพยาบาลทั่วไปแต่ถ้าสามารถเปิดได้ก็จะทำให้เกิด economy of scale ทำให้ต้นทุนการรักษาลดลงและประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น

 

นอกจากนี้ เรามีการเตรียมตัวรับมือสำหรับการเติบโตของการแพทย์ทางไกล โดยการสร้างระบบเทเลเมดิซีนขึ้นในโรงพยาบาล เพราะความเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางทำให้หมอไม่สามารถที่จะเดินทางได้สะดวก การนำ service การแพทย์เฉพาะทางของเราเข้าไปให้พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลและต้องการความเฉพาะทางน่าจะเป็นผลดีกับประชาชน”

              

ขณะที่นายแพทย์อธิวัฒน์ น้อยประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ กล่าวว่า แผนงานในปี 2566 โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ กำลังก้าวเข้าสู่โรงพยาบาลในระดับตติยภูมิ (Tertiary Care) โดยใช้งบลงทุน 250 ล้านบาท เตรียมเปิดให้บริการศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ได้แก่ ศูนย์หัวใจแบบครบวงจร, ศูนย์ผ่ามะเร็งและศูนย์รักษามะเร็ง, ศูนย์สมองและระบบประสาท, ศูนย์ผ่าตัดแบบแผลเล็ก และศูนย์โรคเรื้อรังเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ

 

เพื่อรองรับการรักษาผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเติบโตตามสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าปรับปรุงห้องพักผู้ป่วยแบบ Premium รองรับกลุ่มผู้เข้ารับบริการที่มีกำลังซื้อสูง และยังเช่าพื้นที่เพื่อขยายพื้นที่โรงพยาบาล และรองรับธุรกิจใหม่ในอนาคตเกือบ 4 ไร่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 สอดรับกับการเติบโตของจำนวนผู้ป่วย และความต้องการบริการการแพทย์ในโรคที่ซับซ้อนในพื้นที่ย่านบางนา และกรุงเทพฝั่งตะวันออก ซึ่งมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,851 วันที่ 8 - 11 มกราคม พ.ศ. 2566