รพ.เอกชน ปรับแผนหวั่นสงคราม ฉุดตะวันออกกลางหาย

05 พ.ย. 2566 | 09:10 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ย. 2566 | 10:31 น.

โรงพยาบาลเอกชนเร่งปรับแผนรุกไตรมาส 4 หวั่นผลกระทบสงครามอิสราเอล ฉุดลูกค้าต่างชาติลด โดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลางหาย ขยับรุกประเทศเพื่อนบ้าน จีน เสิร์ฟบริการเพิ่ม พร้อมขยายฐานกลุ่ม Expat หวังดันรายได้เติบโต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2566 ว่าจะมีการขยายตัว 3.7% ซึ่งเกิดจากการทยอยกลับสู่ฐานเดิมที่ไม่มีสถานการณ์โควิด และการกลับมาของลูกค้าต่างชาติจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยฐานลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มตะวันออก ตามมาด้วยกลุ่ม CLMV แต่การประเมินครั้งนี้อยู่ภายใต้สถานการณ์ปกติ ไม่มีสงครามอิสราเอลที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบขยายวงกว้างต่อในประเทศตะวันออก ทำให้ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

รพ.เอกชน ปรับแผนหวั่นสงคราม ฉุดตะวันออกกลางหาย

เจาะอาเซียน+จีน

นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมในไตรมาสที่ 4 ทางเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ซึ่งผ่านจุดพีคในไตรมาสที่ผ่านมา ยังคงการทำตลาดเพื่อรองรับจำนวนคนไข้กลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่ม Medical Tourism ในส่วนที่เป็น Fly-in และ Drive-in เพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะในกลุ่ม Expat จากปัจจุบัน ภาพรวมมีสัดส่วนรายได้ผู้ป่วยชาวต่างชาติประมาณ 4-5 % ของจำนวนทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งของโรงพยาบาลด้วย ซึ่งจากภาพรวมในไตรมาสที่ผ่านมาผู้เข้ารับบริการต่างชาติที่ไม่ใช่ Non-covid โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ถือบัตรประกันของบริษัทข้ามชาติที่เข้ารับบริการมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ในรพ. ที่มีทำเลรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Fly-in

เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ยังคงทำตลาดในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน และกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่สื่อสารภาษาจีน เนื่องจากมีความพร้อมในการให้บริการ ทั้งในส่วนของการรับเข้าและย้ายออกจากประเทศต้นทางหรือปลายทาง การบริการล่าม รวมถึงแพทย์ที่สามารถสื่อสารภาษาที่ 3 ได้อย่างคล่องแคล่ว

ปัจจุบันภาพรวมสัดส่วนจำนวนผู้รับบริการชาวต่างชาติ 4-5% จากจำนวนรวมทั้งหมด และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลในแถบที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทางเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ มีเป้าหมายขยายตลาดผู้รับบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะกัมพูชา เมียนมา ให้เพิ่มขึ้นภายในสิ้นปีนี้

นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล

“ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการพิจารณาการเดินทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามในต่างประเทศ ที่ส่งผลเสียลามมายังภาคเศรษฐกิจ จนตัวเลขผู้เดินทางจากโลกตะวันตกลดลง อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติ ที่ยังมีความต้องการเดินทางมาประเทศไทยเพื่อใช้บริการอื่นๆทางด้านการแพทย์ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยกลุ่ม Expat จะยังเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมทั้งองค์กรข้ามชาติและโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น”

เดินหน้าขยายลูกค้าต่างชาติเพิ่ม

นพ.ภัทรพล คำมุลตรี ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพานาซี พระราม 2 กล่าวว่า การเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ซึ่งยังไม่มีทีท่าที่จะยุติลง อาจจะส่งผลกระทบต่อความกังวลความปลอดภัยในการเดินทางออกนอกประเทศของกลุ่มชาวอาหรับ รวมถึงภาพลักษณ์ความปลอดภัยในประเทศสำหรับชาวต่างชาติ แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมเฉพาะโรงพยาบาลไม่น่ากังวลเนื่องจากปัจจัยบวกยังมากกว่า

อย่างไรก็ดี รายได้จากผู้ใช้บริการต่างชาติ ณ ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเป็น 30% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ที่มีรายได้จากผู้ใช้บริการต่างชาติเพียง 15 % โดยรายได้ที่เติบโตนี้ มาจากลุ่มผู้ใช้บริการชาวอาหรับที่ได้รับการแนะนำแบบปากต่อปากจากผู้ใช้บริการเดิมของโรงพยาบาลและกลุ่มเอเยนซี่ นอกจากนี้โรงพยาบาลยังมีผู้ใช้บริการในกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้นอีกด้วย

คาดการณ์ในปีหน้าว่าทั้งผู้ใช้บริการชาวไทยและต่างชาติจะโตขึ้นมากกว่า 50% เนื่องด้วยความเชื่อมั่นในผลลัพธ์ในการรักษา ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ การใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายในการรักษา และการเป็นผู้นำในการรักษาด้วย Stem Cell ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ได้รับการยอมรับจากผู้ใช้บริการ ประกอบกับปัจจัยบวกที่เอื้อ เทรนด์ของโลกใน​การดูแลสุขภาพก่อนป่วย ชะลอวัย การฟื้นฟูปัญหาสุขภาพ และรัฐบาลได้ประกาศฟรีวีซ่าสำหรับชาวจีน ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะมีผู้ใช้บริการในส่วนนี้ ซึ่งโรงพยาบาลพานาซี ได้มีแผนที่จะขยายฐานผู้ใช้บริการไปในกลุ่มชาวจีน ผ่านทางเอเยนซี่

นพ.ภัทรพล คำมุลตรี

สำหรับภาพรวมไตรมาส 4 ของโรงพยาบาลพานาซีนั้น เริ่มต้นเดือนตุลาคมได้ดีตามคาด เนื่องจากทางโรงพยาบาลมีการเปิดศูนย์การแพทย์มะเร็งบูรณาการพานาซีสามารถให้การรักษามะเร็งแบบครบวงจร โดยแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็ง ซึ่งโปรแกรมการดูแลรักษามะเร็ง ที่เป็น Highlight คือ การใช้ Oncothermia หรือการรักษามะเร็งด้วยคลื่นความร้อน ร่วมกับการปรับภูมิคุ้มกันเพื่อสู้กับมะเร็ง ให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจสำหรับผู้ป่วย ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ป่วยมะเร็ง ประกอบกับชาวต่างชาติเข้ามารักษาโรคกลุ่ม NCDs อาทิ เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ด้วย Stem Cell มากขึ้น

“ในไตรมาสนี้ โรงพยาบาลมีแผนสร้างรายได้จากบริการที่ได้รับความเชื่อมั่นในด้านผลลัพธ์การรักษา ได้แก่ การรักษามะเร็ง การรักษาและฟื้นฟูโรคด้วย stem cell และนวัฒนกรรมทางการแพทย์ที่แตกต่าง รวมถึงเปิดศูนย์ให้การดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เปิดศูนย์ศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสวย ทำการสื่อสารผ่านช่องทางทั้งออฟไลน์ และออนไลน์”

ชูนวัตกรรมต่อยอดรพ.เฉพาะทาง

ด้านนายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ กล่าวว่า ภาพรวมในไตรมาส 4 อาจบอกได้ยากว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร เนื่องจากตอนนี้เพิ่งจะเดือนตุลาคม แค่นั้นเอง จะเห็นได้ว่าเมื่อเริ่มขึ้นไตรมาส 4 ใหม่ๆ โดยปกติแล้วเมื่อเทียบกับก่อนช่วงโควิดแล้วว่าคนไข้ในช่วงปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดก็ค่อนข้างน้อยอยู่

แต่ว่าอัตราส่วนของการเพิ่มขึ้นของคนไข้เมื่อเทียบกับตอนที่มีโควิดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่จำนวนคนไข้ต่างชาติยังน้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อีกปัจจัยคือเรื่องการเมืองที่ยังไม่ค่อยแน่นอน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจโลก ที่มีการหดตัวของเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในภาคพื้นแปซิฟิก ภาคพื้นยุโรป ภาคพื้นสหรัฐอเมริกา รวมถึงตะวันออกกลางด้วย

นายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล

“ภาพรวมเหล่านี้ทำให้คนมีรายได้ที่ลดลงมาก พูดง่ายๆ ผมมองว่าคนส่วนใหญ่ในโลกจนลง พอจนลงการเดินทางออกนอกประเทศเพื่อการรักษาก็จะลดลง อันนี้ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ผิดความคาดหมายเท่าไร”

สำหรับทิศทางแนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน หันมารุกธุรกิจนี้มากยิ่งขึ้น จนเกิดการแข่งขันกันอย่างสูง โดยรพ.มุ่งนำเสนอนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัย ครบวงจรและมีคุณภาพ จะช่วยทำให้แบรนด์แข็งแกร่งเหนือ คู่แข่งขันได้ ทั้งนี้ปัจจุบันคนไข้ 70-80% ยังเป็นคนไข้คนไทย ส่วนที่เหลือ 20-30% จะเป็นคนไข้ต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่ม CLMV เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายการขยายฐานคนไข้ ในกลุ่มนี้จึงเกิดขึ้นด้วย

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,936 วันที่ 2 - 4  พฤศจิกายน พ.ศ. 2566