ธุรกิจโรงพยาบาลแข่งดุ "เมดพาร์ค" ปรับแผนหันรักษาโรคยาก-ซับซ้อน

07 ส.ค. 2566 | 18:06 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2566 | 09:43 น.

เฮลท์แคร์หลังโควิดบูมต่ออีก 2 ปี "เมดพาร์ค" เล็งเป็นศูนย์เฉพาะทางเน้นรักษาโรคยาก-โรคซับซ้อน จับกลุ่มคนไข้รายได้สูง-คนไข้ต่างชาติ หนีการแข่งขันหลังโรงพยาบาลเกิดใหม่ทะลักเข้าตลาด

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark) เปิดเผยบนเวทีสัมมนา "Thailand Economic: Resilience and Opportunities" โดย The Nation  ว่า ย้อนกลับไปในช่วงโควิดระยะท้ายๆ เป็นช่วงที่ท้าทายและงานหนักของโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยผู้ป่วย แต่ประเทศไทยโชคดีที่การแพทย์มีความก้าวหน้าและทันสมัย  แม้ว่าทรัพยากรจะค่อนข้างจำกัดทั้งปริมาณแพทย์ต่อจำนวนประชากรน้อยกว่าหลายประเทศเฉลี่ยแพทย์5-6 คนต่อประชากรหมื่นคน ขณะที่ทรัพยากรประกอบเช่นยาหรือวัคซีนก็ล่าช้ากว่าหลายประเทศ 

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช

อย่างไรก็ตามหลังจากโควิดทิศทางของธุรกิจโรงพยาบาลมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนผ่านตัวเลข ค่าใช้จ่ายทางด้านเฮลท์แคร์ที่เพิ่มขึ้นจาก 2 แสนกว่าล้านบาทขึ้นไปเป็น 8 แสนกว่าล้านบาท และเติบโตทั้งในภาคของโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่มีอัตราการเติบโตมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ จนเกิดเป็นเทรนด์ใหม่ของการลงทุนในช่วง 1-2 ปีนี้มีโรงพยาบาลเกิดใหม่หลายแห่ง ดังนั้นเห็นชัดว่า เฮลท์แคร์ ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและเติบโตขึ้นและยังไปต่อได้อีก

 

“เทรนด์ที่กำลังมาแรงในทางการแพทย์ตอนนี้คือ “เมดิคอล ฮับ” โดยเฉพาะในโรงพยาบาลที่รับกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติ เพราะในช่วงโควิดผู้ป่วยต่างชาติที่เคยต้องมารักษาในเมืองไทยหายไป แต่ตอนนี้เริ่มทะลักกลับเข้ามามากกว่าเดิม  ดังนั้น healthcare ในภาคเอกชนจะเติบโตขึ้นแน่ๆเพราะมีของเก่าที่ค้างท่อไม่ได้รักษาคนไข้อยู่มากพอสมควรจะกลับมาใน 1-2 ปีนี้ ดังนั้นสถานการณ์ตอนนี้นับว่าแซงหน้ากว่าสถานการณ์ปกติไปแล้วเกือบทุกที่จะเห็นว่าโรงพยาบาลบางแห่งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่รับชาวต่างชาติมากที่สุดเดิมยอดขายจากใกล้ๆ 2 หมื่นล้านบาทในช่วงโควิดรายได้หายไปเหลือแค่ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ปีนี้คาดว่าจะสามารถทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท”

สัมมนา "Thailand Economic: Resilience and Opportunities" อย่างไรก็ตามหากมองในมุมของประชากรในประเทศไทยสามารถแบ่งได้ 5 ระยะตั้งแต่ประกรที่มีรายได้ต่ำที่สุดไปจนถึงประชากรที่มีรายได้สูงสุด แต่ละระดับชั้นมีจำนวนประชากร 20% หรือประมาณ 14 ล้านคน  ขณะที่ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรค ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ทั้ง 3 กองนี้ครอบคลุมประชากร 99% แต่มีผู้ใช้สิทธิ์เหล่านี้แค่ครึ่งเดียวเพราะติดเงื่อนไขหลายประการ

 

ขณะเดียวกันสวัสดิการเหล่านี้ก็ดีไซน์ให้ดูแลเฉพาะโรคที่ง่าย ส่วนโรครักษายากและโรคจำเป็นหรือโรคซับซ้อนที่ต้องการทีมแพทย์และเครื่องมือแพทย์ซึ่งเดิมเป็นภาระหน้าที่ของโรงเรียนแพทย์แต่ด้วยทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัดบวกกับภาระงานเยอะ ทำให้โรงเรียนแพทย์ทั้งหมอและอาจารย์ไม่สามารถดูแลโรคยากซับซ้อนได้    เมดพาร์ค จึงดีไซน์โครงสร้างของโรงพยาบาลโดยเลือกเจาะคนไข้หรือกลุ่มคนที่อยู่บนยอดของพีรมิดคือกลุ่มคนรายสูงและกลุ่มโรคที่เป็นขาดคนดูแล

 

โดยฟอร์มทีมสร้างระบบที่มีความแตกต่างสูง แบ่งงานกันทำในประเทศ รวบรวมหมอที่เก่งหาเครื่องมือที่ดีและอยู่ในพื้นที่ที่รับรีเฟอร์จากโรงพยาบาลที่รักษาโรคง่ายๆเข้ามา เพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมในการดูแลผู้ป่วยโรคยากซับซ้อน ซึ่งปลายปีที่ผ่านมาได้ขยายจำนวน ICU 30% เพื่อรองรับคนไข้หนักที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลที่ไม่พร้อม

 

“โรงพยาบาลในแง่วิทยาศาสตร์อาจจะแข่งขันยากเพราะการลงทุนทำวิจัยใหม่ๆผลิตยาใหม่ๆต้องใช้ต้นทุนและประเทศไทยเราขาดนักวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญผู้นำประเทศไม่ได้มองเรื่องของการสร้างคนในประเทศให้เพียงพอ ดังนั้นประเทศนี้จะเติบโตได้ดีจะต้องยอมให้ต่างชาติเข้ามาช่วยประเทศเรามากขึ้น โดยเฉพาะนำนักคิดเข้ามาปรับรูปแบบในการทำงานในหลายๆสาขา ขณะที่คนไทยต้องขยันขึ้นในการพัฒนาตัวเอง

 

เมดพาร์คปีนี้เราจะเปิดศูนย์เฉพาะทางเพิ่มอีกหลายศูนย์ เมื่อต้นปีเราเพิ่งเปิดศูนย์เกี่ยวกับการมีบุตรยาก ตอนนี้กำลังเตรียมทำศูนย์ที่เกี่ยวกับเรื่องของความเจ็บปวดซึ่งเป็นโรคบางอย่างที่เรื้อรัง เช่นเส้นประสาทโดนกดทับที่จะต้องใช้หมอที่มีความเชี่ยวชาญมาดูแล  และเร็วๆนี้จะเปิดห้องแลป  DNA  เนื่องจากหลายๆโรคจะต้องวินิจฉัยโรคให้เร็ว เพื่อทำการรักษาได้เร็วจะมีความเกี่ยวข้องกับจีโนมใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยนี่ก็เป็นเรื่องที่เรากำลังเตรียมการในปีนี้”