พ.ญ.จามรี เชื้อเพชระโสภณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเมดพาร์ค เปิดเผยในงานสัมมนา Innovation Keeping the World นวัตกรรมรักษ์โลก ไทยอยู่จุดไหน? ว่า ในปี 2562 องค์กรการดูแลสุขภาพที่ปราศจากผลอันตราย (Health Care Without Harm) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ระบุว่า หากนับระบบสาธารณสุขในประเทศต่างๆเป็นประเทศหนึ่ง ประเทศดังกล่าวจะเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก
เทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของโรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 514 แห่ง หรือร้อยละ 4.4 ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการใช้ไฟฟ้า,ระบบก๊าซ,ไอน้ำ,ระบบปรับอากาศ และกระบวนการทำงานต่างๆ ส่วนขยะทางการแพทย์ 15% เท่านั้นที่เป็นขยะอันตราย ที่อาจทำให้แพร่เชื้อระบาด เป็นพิษ หรือปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ขณะที่ขยะทางการแพทย์อีก 85% ไม่ต่างจากขยะตามครัวเรือนทั่วไป
พ.ญ.จามรี กล่าวต่อว่า การลดก๊าซเรือนกระจกจากโรงพยาบาลไม่ว่าจากขยะ การรักษา การผลิตอุปกรณ์ต่างๆถือเป็นวิธีการรักษามนุษย์เราอย่างหนึ่ง ทั้งนี้จากแบบสำรวจที่ทำขึ้นที่มาโย คลินิก ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร 4 แห่ง ทั่วสหรัฐ พบว่า ในปี 2561 มีอุปกรณ์ที่ทำจากพลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียวคิดเป็น 20% ของขยะทางการแพทย์ทั้งหมด โดย 57% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจไม่ทราบว่าอุปกรณ์ในห้องผ่าตัดชิ้นไหนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 39% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจบอกว่าเคยนำอุปกรณ์เก่ากลับมาใช้ใหม่บางครั้งหรือไม่เคยเลย 39% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจไม่มีความรู้เรื่องการรีไซเคิล
ทั้งนี้ในด้านความสนใจในดการรักษ์โลกจากหน่วยงานสุขภาพนั้น เบื้องต้นองค์การอนามัยโลก (WHO) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและพลังงาน ผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ และผู้แทนอาวุโสจากสถาบันภาคประชาสังคมกว่า 20 คน ได้รับรองแผนงานยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพและพลังงาน
โดยในการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งจัดตั้งโดยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยแผนงานดังกล่าวได้ระบุขั้นตอนสำคัญที่เป็นรูปธรรมในการเร่งพัฒนาเข้าถึงพลังงานสะอาดและยั่งยืนสำหรับการคุ้มครองและการบริการด้านสาธารณสุข
พ.ญ.จามรี กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลเมดพาร์คถือเป็นโรงพยาบาลไม่กี่แห่งในภูมิภาคที่ได้ใบรับรองเป็นอาคารที่ได้มาตรฐานด้านประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนในระดับโลก การออกแบบที่สวยงาม ซึ่งมีคะแนนประเมินระดับสูงสุดในกลุ่ม Health Care ที่ 65 คะแนน นอกจากนี้ยังเป็นอาคารที่ไม่ปล่อยสารประเภท Volatile Organic Compounds ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย ประเภทไฮโดรคาร์บอน ที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
ขณะที่การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้เลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและคำนึงถึงการลดการใช้พลังงาน เช่น เครื่อง CT Scan ปัจจุบันโรงพยาบาลฯใช้เครื่องจากบริษัทที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณรังสีและลดการใช้พลังงาน โดยรุ่นที่ใช้ลดการใช้ไฟฟ้าได้มากกว่ารุ่นเดิมถึง 40% อีกนี้ยังช่วยลดการเกิดของเสียจากการทำงานหลายขั้นตอน โดยใช้กระบวนการ Automation เช่น การตรวจเลือด ทำให้ใช้ปริมาณเลือดหรือสิ่งส่งตรวจน้อยลงอีกด้วย
นอกจากนี้โรงพยาบาลฯมีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทางการแพทย์เพื่อลดขั้นตอนและการใช้กระดาษ โดยเริ่มนัดหมายผ่านระบบแอปพลิเคชั่น และลดการใช้กระดาษในขั้นตอนการทำงาน เช่น ระบบสั่งยาออนไลน์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง