“เมดพาร์ค”ชูเทคโนโลยี-แพทย์เฉพาะทาง ควบรักษาสิ่งแวดล้อม ดันผู้นำ รพ.ไทย

24 ก.พ. 2566 | 15:19 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.พ. 2566 | 12:33 น.

“เมดพาร์ค”ลุยยกระดับคุณภาพการให้บริการหนุนไทย “เมดิคัลฮับระดับโลก” ชูแพทย์เฉพาะทางควบคู่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเพิ่มการรักษาแม่นยำ รักษาสิ่งแวดล้อม-ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ตอบโจทย์ความยั่งยืน

ในการสัมมนา THANX FORUM 2023 HEALTH AND WELLNESS SUSTAINABILITY  จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” นางสมถวิล  ปธานวนิช ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวในช่วงเสวนา “DIGITAL HEALTH TECH ระบบนิเวศใหม่การแพทย์ไทย” ใจความสำคญระบุว่า

โรงพยาบาลเมดพาร์ค เปิดให้บริการโดยมีอายุ 2 ปีครึ่ง เกิดมาเพื่อเติมเต็มระบบสาธารณสุขไทยที่มีเป้าหมายจะเป็นเมดิคัลฮับ เพื่อให้คนทั้งภูมิภาคและทั่วโลกทราบว่าทางโรงพยาบาลมีขีดความสามารถที่ทัดเทียม และรักษาโรคยาก ๆ ได้

โดยเมดพร์คเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีวัตถุประสงค์การก่อตั้งที่ชัดเจน และมีการคัดเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้และเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ป่วย รวมถึงกระแส Telemedicine ที่เป็นกระแสที่มิอาจต้านทานได้และต้องมาอย่างแน่นอน ซึ่งการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมถือเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อมาตอบโจทย์ของโรงพยาบาลและผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้วิสัยทัศน์(VISION)ของโรงพยาบาลเมดพาร์ค คือ "เป็น 1 ในโรงพยาบาลชั้นนำในภูมิภาคนี้" ใครเป็นอะไรไม่หายให้นึกถึงเรา ซึ่งอยากให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี การที่จะทำได้ต้องมีแพทย์และทีมแพทย์ที่แข็งแรง เมดพาร์คเน้นเรื่องของนวัตกรรม และส่งเสริมทีมแพทย์เพิ่มเติมองค์ความรู้ โดยวาง POSITIONING(ตำแหน่ง) ที่ชัดเจนว่า เราเป็น VALUE HEALTHCARE PROVIDER หรือเป็นโรงพยาบาลที่มาแล้วมีความคุ้มค่า คนที่ป่วยแล้วไม่ควรที่จะเสียชีวิต ต้องไม่เสียชีวิต ต้องสามารถที่จะหาทางออกที่ดีที่สุดโดยผู้ป่วยกับแพทย์จะต้องร่วมมือกัน

นางสมถวิล  ปธานวนิช ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา โรงพยาบาลเมดพาร์ค

ทั้งนี้เมดพาร์คยังได้ประกาศตัวว่า จะเป็นศูนย์การแพทย์ที่ดูแลโรคยากซ้ำซ้อน ที่ต้องอาศัยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านต่าง ๆ มาประกอบกันหลาย ๆ ทีม โดยแพทย์ที่เป็นแพทย์ประจำของเมดพาร์คจะต้องจบแพทย์เฉพาะทางมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี ส่วนแพทย์ที่ยังไม่ครบถ้วนด้านคุณสมบัติ ก็สามารถมาร่วมงานได้แต่ยังไม่สามารถเป็นสต๊าฟได้ นอกจากนี้ยังเน้นพยาบาลเฉพาะทาง

ขณะเดียวกัน เมดพาร์คยังมีคัดเลือกเทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาในระดับสูง เพื่อดูแลการรักษาโรคที่มีความยากและมีความซับซ้อน โดยมีระบบ AI ที่เข้ามาฝังอยู่ในเครื่องมือแพทย์หลาย ๆ ชนิด ซึ่งแต่ยุคสมัยก็มีการพัฒนาให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือแพทย์ในการวินิจฉัยและในการรักษาให้ดีขึ้น เพื่อลดเวลาผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล และลดการใช้ทรัพยากร ลดขยะทางการแพทย์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนของโลก

ตัวอย่างห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็ป) ที่มีความสำคัญในการวินิจฉัยโรคที่ต้องมีคุณภาพสูงสุด โดยห้องแล็ปของเมดพาร์คได้รับ ISO ด้านคุณภาพและความปลอดภัย รวมถึงเมดพาร์คยังเน้นเรื่องความสะอาดที่ใช้ระบบอัตโนมัติดูแลทั้งหมด มีศูนย์มะเร็งที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุด สามารถวินิจฉัยการรักษาได้อย่างแม่นยำ ภายใน 20 นาทีสามารถบอกได้ว่าชิ้นเนื้อนั้นเป็นชิ้นเนื้อที่อันตรายหรือไม่ ทำให้การรักษามีความรวดเร็วและมีความปลอดภัย ไม่ว่าจะรักษาด้วยการให้คีโมหรือด้วยการฉายรังสี โดยชิ้นเนื้อที่ดีได้รับผลกระทบน้อย

ส่วนการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยมาร์คจุดที่ใส่ข้อเข่าเทียมที่แม่นยำ หลังรักษาและใส่ข้อเข่าเทียมแล้วสามารถเดินได้ เข่าตรง ไม่มีเข่าโค้ง หรือขาโก่งที่ไม่พึงปรารถนาทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ส่วน EYE CARE CENTER ของโรงพยาบาล แพทย์สามารถออกแบบให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้ โดยอาศัยเทคโนโลยี อาศัย AI  มาช่วยวิเคราะห์และประมวลผลสายตาให้มีความชัดเจนและมีความแม่นยำ

“เมดพาร์ค”ชูเทคโนโลยี-แพทย์เฉพาะทาง ควบรักษาสิ่งแวดล้อม ดันผู้นำ รพ.ไทย

“เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อตัวหมอเองให้ทำงานสะดวก แต่เพื่อประโยชน์ของคนไข้ ทำให้การรักษาได้ผล และมีความรวดเร็ว และคนไข้จะไม่เจ็บตัวมาก ทั้งนี้ในเรื่องเทคโนโลยีในการรักษา โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้ใช้กันมานานแล้ว แต่ในแต่ละช่วงปีจะมีการพัฒนา ซึ่งทางเมดพาร์คพยายามใช้เทคโนโลยีล่าสุด และเป็นเทคโนโลยีเฉพาะทาง”

สำหรับการนำเทคโนโลยีมาใช้หน้าที่คือ 1.จะต้องให้ความรู้กับประชาชน 2.จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัย และ 3.เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยได้มากในการส่งผ่านข้อมูล การบันทึกและการเก็บประวัติ ซึ่งไม่ว่าข้อมูลผู้ป่วยจะถูกอ้างอิงมาจากโรงพยาบาลใด ทางเมดพาร์ค ก็สามารถที่จะแชร์ วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับแพทย์เจ้าของไข้เดิมได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ทำมาตลอดระยะเวลาในช่วงโควิดกับทั้งในและต่างประเทศ โดยที่เมดพาร์คได้เน้นย้ำเรื่องทีมแพทย์กับสหวิชาชีพทำงานร่วมกัน รวมถึงดูแลคุณภาพชีวิตบุคลากรของโรงพยาบาลให้ดีเช่นกัน

“ที่เมดพาร์คมีความสะอาด พูดถึง PM2.5 ที่ร้ายมาก  แม้ฉีดน้ำล้าง หรือฝนตกลงมาก็ช่วยไม่ได้ เพราะมีขนาดเล็กมาก สามารถเข้าไปในสมอง เข้าไปในเส้นเลือดได้ ดังนั้นตึกเราทั้งหมดจึงเป็นตึกที่เป็นกรีนบิวดิ้ง ที่อากาศจะถูกดันออกไป เชื้อโรคจะเข้ามายากมาก และเราเติมอากาศที่มีการกรองและฆ่าเชื้อ ซึ่งการดูแลบุคลากรให้ทำงานกับเราและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ และถือเป็นสิ่งสำคัญในเรื่อง Sustainability (ความยั่งยืน)”

นอกจากนี้ทั้งตึกยังมีการใช้กระจกที่ไม่สะท้อน หรือสะท้อนแสงน้อย ทำให้ไม่สะท้อนความร้อนไปยังตึกข้างเคียง หรือชุมชนข้างเคียง และทำให้ด้านในอาคารประหยัดการใช้ไฟฟ้า หรือประหยัดรายจ่ายจากเครื่องปรับอากาศ และทางโรงพยาบาลยังมีพื้นที่สีเขียวค่อนข้างมาก และหน้าตึกของโรงพยาบาลจะมีป้ายบอกคุณภาพของอากาศ รวมถึงปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่เปรียบเทียบข้างนอกกับข้างในอาคาร โดยมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อช่วยดูสิ่งแวดล้อม ดูแลโลกของเรา และดูแลสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพของผู้คนในจุดที่ทางโรงพยาบาลสามารถทำได้ และมีความคล่องตัวที่จะทำ

“ประเทศไทยจะเป็นเมดิคัลฮับ เราต้องแสดงให้โลกเห็นว่า เขามาที่เราแล้วปลอดภัย ทั้งหมดทั้งมวลที่ทำเพื่อลดการติดเชื้อในอาคาร เพราะผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนส่วนใหญ่จะมีความอ่อนไหว และบางทีผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศก็นำเชื้อโรคติดตัวมาด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อดื้อยาต่าง ๆ ดังนั้นระบบดูแลป้องกันการติดเชื้อของเราจะต้องแข็งแรงมาก”

“เมดพาร์ค”ชูเทคโนโลยี-แพทย์เฉพาะทาง ควบรักษาสิ่งแวดล้อม ดันผู้นำ รพ.ไทย

โรงพยาบาลยังได้จัดทำแอพพลิเคชั่น My MedPark เพื่อช่วยคนไข้ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น เพราะจะมีเรคคอร์ทอยู่กับตัว มีผลแล็บของตัวเอง มีการแจ้งเตือนต่าง ๆ การใช้ยา การนัดหมอเรียลไทม์ และสามารถฝากคำถามต่าง ๆ ไว้ได้ โดยมีระบบซีเคียวริตี้ในการเข้าใช้ข้อมูลของตัวเอง ซึ่งเวลานี้ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก และที่สำคัญทางโรงพยาบาลมีการคิดค่าบริการที่โปร่งใส ทั้งนี้ทางเมดพาร์คยินดีจะร่วมมือกับทุก ๆ โรงพยาบาลในประเทศไทย เพื่อยกระดับให้ประเทศเป็นเมดิคัลฮับที่ดี ที่ชาวโลกยอมรับและมาใช้มาบริการมากขึ้น และคนไทยเข้าถึงได้

“เมดพาร์ค”ชูเทคโนโลยี-แพทย์เฉพาะทาง ควบรักษาสิ่งแวดล้อม ดันผู้นำ รพ.ไทย

“เวลานี้จำนวนแพทย์ต่อประชากรของไทยน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหลาย ๆ  ประเทศ ในสหรัฐฯอาจจะมีแพทย์ 40 คนต่อประชากรหมื่นคน สิงคโปร์อาจจะมีแพทย์ 20 คนต่อประชากรหมื่นคน ไทยมีแพทย์ 4.5 คนยังไม่ถึง 5 คน ต่อประชากรหมื่นคน และจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยิ่งน้อยไปใหญ่ แต่ที่สำคัญคือเราจะใช้ความเชี่ยวชาญตรงนั้นมาร่วมมือกันในการดูแลและรักษาผู้ป่วยได้อย่างไร ซึ่งเราไม่ความคิดที่จะแย่งคนไข้ คิดแต่จะร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับคนไข้ วันนี้เมดพาร์คยังไม่คิดที่จะเปิดแห่งที่ 2 ที่ 3 แต่จะขอทำตรงนี้ให้แข็งแรงก่อน” นางสมถวิล กล่าว