เปิดวิธีป้องกัน “กระดูกสันหลังคด” อันตรายแค่ไหน กลุ่มใดเสี่ยง อ่านเลย

24 มี.ค. 2566 | 15:45 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2566 | 15:45 น.

เปิดวิธีป้องกัน “กระดูกสันหลังคด” อันตรายแค่ไหน กลุ่มใดเสี่ยง อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ กรมอนามัยระบุการรักษาแบ่งออกได้เป็น 3 แนวทาง

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะกระดูกสันหลังคดในวัยรุ่นนั้น มีปัจจัยเสี่ยงคือ เพศหญิงและอายุ โดยเฉพาะช่วงที่กำลังจะเข้าสู่วัยรุ่น การออกกำลังกายอย่างหนักไม่พบว่าเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะกระดูกสันหลังคด 

โดยปัจจุบันมีรายงานข่าวบนสื่อออนไลน์พบมีดารานักแสดงมีภาวะกระดูกสันหลังคด ซึ่งทำให้เกิดความสนใจของประชาชนจำนวนมาก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแต่ตรวจพบเจอโดยบังเอิญ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีอาการปวดหลัง บางรายที่มีการคดเอียงของกระดูกค่อนข้างมาก 

จึงจะตรวจพบว่ามีแนวกระดูกสันหลังไม่ตรง ระดับหัวไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน ระดับเอวไม่เท่ากัน  ด้านหลังนูน ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองจึงมักมาพบแพทย์ด้วยความกังวลเกี่ยวกับรูปร่าง 

นายแพทย์อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า เมื่อผู้ป่วยเหล่านี้มาพบ แพทย์จะทำการถ่ายภาพทางรังสีกระดูกสันหลัง เพื่อการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของ "กระดูกสันหลังคด" รวมทั้งพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ส่วนการถ่ายภาพทางรังสีคอมพิวเตอร์นั้นจะมีประโยชน์ในการช่วยวางแผนในการผ่าตัด 
    
นายแพทย์กิจพัฒน์ ติรชาญวุฒิ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เฉพาะทางกระดูกสันหลังโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า การรักษาแบ่งออกได้เป็น 3 แนวทาง คือ การสังเกตอาการ การใส่เสื้อเกราะ และการผ่าตัด  ในกรณีที่กระดูกสันหลังมีความคดน้อยกว่า 25 องศา แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิดทุก 4 - 6 เดือน 

หากมีความคดมากกว่า 25 - 30 องศา แพทย์จะแนะนำให้ใส่เสื้อเกราะเพื่อดัดกระดูกสันหลัง และควบคุมไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น โดยใส่ประมาณ 23 ชั่วโมงต่อวัน ยกเว้นเวลาอาบน้ำหรือเล่นกีฬา 

ส่วนการรักษาด้วยการผ่าตัด ควรจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกสันหลังคดมากกว่า 45 องศา และยังไม่หยุดการเจริญเติบโต หรือมีความคดมากกว่า 50 - 55 องศาในผู้ป่วยที่หยุดการเจริญเติบโตแล้ว โดยการใช้โลหะดามกระดูกสันหลังในการจัดแนวกระดูกสันหลังให้ตรงขึ้นและเชื่อมข้อกระดูกสันหลังให้ติดแข็ง