กรมอนามัยแนะวิธีลดอ้วนช่วงเด็กปิดเทอม ต้องทำอย่างไร อ่านที่นี่

23 มี.ค. 2566 | 13:03 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2566 | 13:03 น.

กรมอนามัยแนะวิธีลดอ้วนช่วงเด็กปิดเทอม ต้องทำอย่างไร อ่านที่นี่มีคำตอบ แนะผู้ปกครองใส่ใจเลือกอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และคุมเข้มพฤติกรรมสุขภาพของลูกเป็นพิเศษ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงปิดเทอมผู้ปกครอง ควรใส่ใจในการดูแลพฤติกรรมสุขภาพของเด็กเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านอาหารและโภชนาการ ควรจัดอาหารให้มีคุณค่าและถูกหลักโภชนาการ ทั้งปริมาณและความเหมาะสมกับวัย 

ใน 1 วัน ควรกินอาหารที่หลากหลาย และครบ 5 หมู่ ซึ่งเด็กอายุ 6 - 14 ปี ควรได้รับพลังงานเฉลี่ยที่ 1,600 กิโลแคลอรี โดยในแต่ละวันควรกินข้าวหรือแป้ง จำนวน 8 ทัพพี เนื้อสัตว์ จำนวน 6 ช้อนกินข้าว ผัก จำนวน 12 ช้อนกินข้าว นม 2 แก้ว และให้มีผลไม้ 6 – 8 ชิ้นพอดีคำทุกมื้อ 

นอกจากนี้ อาจชวนเด็กฝึกปรุงอาหารของตนเอง โดยลดหวาน มัน เค็ม หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น รวมทั้งเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน อาหารแช่แข็งพร้อมทาน ควบคุมการซื้อขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มรสหวานจัด น้ำอัดลม ชานมไข่มุก 

และจัดเตรียมนมรสจืดและผลไม้ที่เด็กชอบไว้ในตู้เย็นแทน และให้ดื่มน้ำสะอาด 6 - 8 แก้วต่อวัน 

อย่างไรก็ดี ที่สำคัญควรส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกาย จนรู้สึกเหนื่อย อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก ทำงานบ้าน งานสวน 

เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น เพื่อการมีสุขภาพที่ดี และนอนหลับให้เพียงพอวันละ 9- 11 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 6-13 ปี) และ 8 - 10 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 14-17 ปี)

กรมอนามัยแนะวิธีลดอ้วนช่วงเด็กปิดเทอม ทั้งนี้ ผู้ปกครองยังสามารถเช็คหรือประเมินภาวะโภชนาการของบุตรหลานตนเองได้ด้วยการใช้กราฟอ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6 – 19 ปี  โดยใช้ 2 กราฟ ได้แก่ ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ และ น้ำหนัก

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ช่วงปิดเทอมเด็กอยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมส่วนใหญ่ของเด็กเปลี่ยนไป จะนอนดึก ตื่นสาย พักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะใช้เวลาในการเล่นเกมส์ เล่นโทรศัพท์ งดมื้อเช้า เลือกกินขนม น้ำอัดลม น้ำหวาน และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ 

จากรายงานข้อมูลภาวะโภชนาการของกระทรวงสาธารณสุขปี 2566 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 พบเด็กอายุ 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 13.2% และเด็กอายุ 
15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 13% ซึ่งเกินกว่าค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่เกิน 12% 
 

และจากข้อมูลในปี 2538 – 2557 พบว่า เด็กไทยติด 1 ใน 3 ของอาเซียนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน และมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า อีกทั้ง 1 ใน 2 ของเด็กอายุ 12 ปี ดื่มเครื่องดื่มรสหวานและน้ำอัดลมมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน และ 1 ใน 3 ของเด็กไทยกินขนมถุงเป็นประจำทุกวันมากกว่า 2 ครั้ง 

นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลยังพบว่า 9 ใน 10 ของเด็กไทยเห็นสื่อโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ซึ่งการเห็นสื่อโฆษณาบ่อยจะกระตุ้นการกินของเด็กทำให้อยากได้ อยากกินตามโฆษณา และมากกว่า 3 ใน 4 ของเด็กไทยที่ไม่เห็นข้อความเตือนในโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม